เสียงส่วนใหญ่ค้านเปิดขายเหล้าถึงตี 4 ชี้! ความคุ้มค่าเศรษฐกิจต่ำ แนะ ‘ขายแพง-ขึ้นภาษี’ สู้!

เวทีเสวนาแถลงผลวิจัยนโยบายเปิดสถานบริการถึงตี 4 นักเศรษฐศาสตร์ มธ.วิจัยพบพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 2 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ 67% ก็ดื่มในเวลาเดียวกัน มีเพียง 30 % ที่ดื่มช่วงห้าทุ่มถึงตี 2 แนะตั้งราคาขายสูง เก็บภาษีเหล้า เบียร์ ในพื้นที่พิเศษเป็นทุนช่วยบรรเทาผลกระทบ ด้าน รอง ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ เผยประชาชน 53% ไม่เห็นด้วย มีเพียง 21 % ที่เห็นด้วย ด้านภาคีสุขภาพและสื่อมวลชนเสนอให้ทำวิจัยคู่ขนานสำรวจความคุ้มค่าและมีมาตรการลดผลกระทบทั้งอุบัติเหตุ การปกป้องเด็กและเยาวชนและความรุนแรงต่าง ๆ รุกเสนอรัฐบาลทบทวน 13 ธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ วิภาวดี รังสิต, มูลนิธิเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเสวนาและแถลงเปิดผลวิจัย “นโยบายเปิดสถานบริการ ผับ บาร์ ตี 4” โดย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวเปิดงานว่า ยังมีคำถามหลายประการจากกรณี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกฎกระทรวงมหาดไทยให้สถานบริการในจังหวัดท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร  ชลบุรี  ภูเก็ต เชียงใหม่และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีเปิดบริการได้ถึงตี 4 ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวได้จริงหรือไม่ ในขณะที่การรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆดำเนินการผ่านทางออนไลน์เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมไปถึง การรับฟังเสียงของประชาชนในวงกว้างแต่อย่างใด  แต่ก็มีการประกาศเดินหน้านโยบายแล้ว ดังนั้น มสส.และ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ร่วมกับทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ได้ศึกษาวิจัย และสำรวจความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบาย ดังกล่าวของรัฐบาล รวมถึง การประเมิน ผลกระทบ ทางนโยบาย ว่ามีความคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพื่อส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลให้ทบทวนและมีความรอบคอบ 

ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการศึกษา “การประเมินผลทางเศรษฐกิจ  สุขภาพและสังคม หากมีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืน  ด้วยการขยายเวลาเปิดผับบาร์ สถานบันเทิง” ว่า จากการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว 1,200 คน ใน 4 พื้นที่ คือ ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ, พัทยา จ.ชลบุรี, หาดป่าตอง ภูเก็ต และหาดเฉวง เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งเป็นคนไทย 900 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 คน ในเดือนเมษายน 2566 โดยใช้สถานการณ์สมมติทั้งช่วงเวลาขาย และราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า  พฤติกรรมโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยวไทย 65% มีการดื่มนอกบ้านอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ดื่มที่ร้านอาหาร ในช่วงเวลา 17.00-20.00 น. ถ้าดื่มที่สถานบันเทิง ช่วงเวลาประมาณ 20.00 – 23.00 น. ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดื่มเริ่มตั้งแต่ 14.00 -17.00 น. คิดเป็น 25% ส่วนการดื่มช่วงเย็นอยู่ที่ 50%  ในขณะที่กว่า  67% จะดื่มช่วง  20.00 – 23.00 น.  และ 30% จะดื่มช่วง 23.00 – 02.00 น.

เมื่อสอบถามปริมาณการดื่ม ช่วงเวลาและราคาที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยฯ ประเมินว่า หากสามารถดื่มหลังเที่ยงคืนได้  โดยราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 70 บาท ต่อหน่วยมาตรฐาน หรือเบียร์ขวดเล็ก  พบว่าชาวไทยจะดื่มเพิ่มขึ้น 0.45 หน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติดื่มเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 0.56 หน่วยมาตรฐาน   ถ้าคิดเป็นตัวเลขที่เปิดสถานบันเทิงเพิ่มอีก 4 ชั่วโมง หากขายราคา 70 บาท คนไทยจะดื่มเพิ่ม 1.8 หน่วยมาตรฐาน นักท่องเที่ยวต่างชาติดื่มเพิ่ม 2.25 หน่วยมาตรฐาน ดังนั้น หากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ 160 บาทต่อหน่วยมาตรฐานจะพบว่าคนไทยจะดื่มเพิ่มขึ้น 0.27 หน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดื่มเพิ่มขึ้น 0.25หน่วยมาตรฐาน  ต่อชั่วโมง โดยหากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูงขึ้น อัตราการดื่มที่มาจาการขยายเวลาก็จะเพิ่มไม่มาก และหากคำนวณปริมาณการดื่มทั้งปีของนักท่องเที่ยวใน 4 พื้นที่ที่สำรวจ  คนไทยจะดื่มประมาณ 9 ล้านหน่วยมาตรฐาน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 43 ล้านหน่วยมาตรฐาน และเมื่อคูณกับต้นทุนด้านเศรษฐกิจ  สุขภาพและสังคม โดยอิงจากงานวิจัยที่ผ่านๆ มา จะพบว่าต้นทุนที่จะเกิดแก่สังคมจะอยู่ที่ประมาณ 258 ล้านบาท 

“นอกจากผลทางเศรษฐกิจจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและสังคม จึงต้องลดปริมาณการดื่ม และมาตรการช่วยลดการดื่มได้ คือ การเพิ่มราคาให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาอื่น ๆ  ในด้านเศรษฐศาสตร์ ผมเห็นว่า การเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยเฉพาะในสถานบันเทิงร้านเหล้า ผับบาร์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ควรถูกนำมาใช้บรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้น เช่นการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยวหลังเวลาปิด มีจุดตรวจที่เข้มข้น  มีบริการสาธารณะเพื่อเดินทาง เป็นต้น “รวมไปถึงการจำกัดความ คำว่า โซนนิ่ง ให้ชัดเจนมีมาตรการรรองรับที่รัดกุม มีการ Tracking ว่าคนดื่มมาจากร้านไหน เพื่อทางร้านควรมีส่วนรับผิดชอบ” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าว 

ด้าน ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 3,083 คน ใน 12 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566 โดยความเห็นของประชาชนต่อนโยบายขยายเวลาปิดสถานบันเทิง จากตี 2 ไปเป็นตี 4 ภาพรวมคนมีแนวโน้มเห็นด้วยกับการขยายเวลา 21 % ไม่เห็นด้วย 53% แต่ถ้าไปจำกัดพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษ อย่างเช่น ซอยนานา ข้าวสาร สีลม ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ โอกาสเห็นด้วยจะขยับขึ้นมา 39%  อีก 33% ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ การศึกษาในภาพรวมพบว่า 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างมองไม่เห็นประโยชน์เกี่ยวกับนโยบายนี้ มีเพียง 1 ใน 4 โดยฝ่ายที่มองเห็นประโยชน์ โดยให้เหตุผลอันดับหนึ่งว่าทำให้มีเวลาดื่ม กิน เที่ยวมากขึ้น ส่วนการช่วยเรื่องการค้าขายในพื้นที่ให้ดีขึ้นมีรายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องรองลงมา ด้านข้อกังวลใจพบว่า 75.4% ห่วงเรื่องเมาแล้วขับ 64.8% ห่วงว่าจะดื่มมากขึ้น มีแค่ไม่ถึง 10% ที่บอกว่า ไม่กังวลใดๆ พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลจัดโซนนิ่งสถานบันเทิง ควบคุมอายุนักท่องเที่ยว ตรวจจับปัญหายาเสพติด เข้มงวดการรักษาความสงบเรียบร้อย ตรวจตราผู้ขับขี่ยานพาหนะ ตรวจตราแหล่งมั่วสุมยามค่ำคืน  

ดร.สุริยัน กล่าวอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายนี้ยังน้อยเกินไป โดยเฉพาะความกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ มีแต่พูดถึงข้อดีแต่ด้านผลกระทบและแนวทางควบคุมป้องกันยังพูดถึงไม่มาก แม้กระทั่งพื้นที่ท่องเที่ยวเองก็พูดเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุ แต่ปัญหาเมาแล้วขับจะจัดการอย่างไร จะป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงแอลกอฮอล์ได้อย่างไรยังไม่มีการพูดถึง จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างเป็นรูปธรรม  ส่วนรัฐบาลนั้นการจะเดินหน้านโยบายไม่ว่า จะเป็นสุราก้าวหน้า หรือขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ควรมีมาตรการควบคุมและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย รวมทั้งมีทางเลือกให้สังคมพิจารณาร่วมกันว่า ถ้าอยากกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของแหล่งท่องเที่ยวนั้น จะมีมาตรการอื่นที่คุ้มค่ากว่าหรือไม่ และคำนึงถึงปัญหาสุขภาวะ ปัญหาสังคมประกอบด้วย ไม่มองแค่มิติเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว 

ด้าน ภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าจะได้ไม่คุ้มเสียและต้องมีมาตรการด้านลดผลกระทบที่ชัดเจน …..อาทิ รศ.ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้นำเสนอผลงานวิจัยของต่างประเทศ พบว่า หากมีการขยายเวลาเปิดผับ บาร์ เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง จะมีปัญหาอุบัติเหตุความรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลควรส่งเสริมเศรษฐกิจภาคกลางคืน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์จะดีกว่า ส่วน นายวิษณุ  ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สคล. สะท้อนว่า รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับในเขตโซนนิ่งให้ชัดเจน ปัญหาอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดแอกอลฮอล์ที่ยังขาดแคลนอยู่จะแก้อย่างไร ควรมีกองทุนเยียวยาให้แกผู้ได้รับผลกระทบ

ส่วนทางด้าน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เปิดเผยข้อมูลเว็ปไซต์ การประกันภัยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พบว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 12 ของความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้นนโยบายขยายเวลานี้ ตนเองเห็นว่า “เป็นนโยบายที่อำมหิตและคิดน้อย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน” ดังนั้น ในสัปดาห์หน้า ตนเองและภาคีจะไปยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายในเรื่องนี้

ส่วนทางด้านสื่อมวลชน โดย นายชูชาติ สว่างสาลี ผู้ก่อตั้งเว็ปไซต์เนตรทิพย์ ได้สะท้อนความกังวลว่าจะเกิดพับ บาร์ ผุดขึ้น และปิด ตี 4 ในพื้นที่ใกล้เคียง และจะขยายไปทั่วประเทศ ขณะที่ นายจิระ ห้องสำเริง จากแซ่บเรดิโอ บอกว่า ก่อนหน้านี้ติดตามข่าวทราบว่ารัฐบาลจะเปิดรับความคิดเห็น วันดีคืนดีออกมาตรการมาแล้ว ขณะที่ยอดจำหน่ายสุราของผู้ประกอบการช่วงนี้ลดวูบลงเลยถึงบางอ้อว่า ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ต้องการเพิ่มยอดขาย รวมทั้งการแข่งขันธุรกิจแอลกอฮอล์ในปัจจุบันมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มจึงทำให้รัฐบาลต้องรีบใช้มาตรการ แต่ก็อยากให้คำนึงถึงผลกระทบรอบด้านด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password