“ศุภมาส” หนุน สถาบันการศึกษาพื้นที่ จชต. ชูปัตตานี “เมืองแห่งปูทะเล”

รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ฯ หนุนภารกิจสถาบันการศึกษาพื้นที่ชายแดนใต้ ชูปัตตานีเมืองแห่งปูทะเล พร้อมดันสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ แก้จน ย้ำ อว. ต้องเป็นที่พึ่งปชช. นำนวัตกรรมแก้ปากท้อง พัฒนาคุณภาพชีวิต

วันที่ 16 พ.ย. 66 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีเพื่อมอบนโยบายและหนุนเสริมภารกิจของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสำคัญที่มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง อว. ผ่านหน่วยบริหารโปรแกรม (Program Management Unit : PMU) ในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยเเละนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ

โดย น.ส.ศุภมาส กล่าวมอบนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. คือ ให้สถาบันการศึกษามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อความเป็นเลิศและเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้น “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รมว.กระทรวง อว. มอบหมายให้ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. ทำหน้าที่กำกับติดตามและให้ข้อเสนอแนะการทำงานของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

จากนั้น น.ส.ศุภมาส และ พญ.เพชรดาว ได้ชมผลงาน และผลิตภัณฑ์ในโครงการวิจัยของ ม.อ.ปัตตานี อาทิ โครงการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งมุ่งยกระดับจังหวัดปัตตานีให้เป็นเมืองแห่งปูทะเล

โครงการการพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ซึ่ง 3 สถาบันการศึกษาในพื้นที่ คือ ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้า

โครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เน้นการนำทุนทางวัฒนธรรมทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้มาสร้างคุณค่าและสร้างมูลค่า

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ผลงานเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับประเด็นมุ่งเน้นของกระทรวง อว. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงาน อว. จับมือและมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้น ขับเคลื่อนงานวิจัยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจได้

อีกทั้งยังสอดคล้องกับประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ อว. ต้องทำทันที คือ การนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

โดยเฉพาะ ปัตตานีซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของชายแดนภาคใต้ ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ มีภาคประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและยังเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นในด้านการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มโลกมุสลิม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างเด่นชัด

“เรามุ่งมั่นให้กระทรวง อว. ต้องเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและทำให้คนไทยมีอนาคตที่ดี เพราะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมของคนไทยนั้นถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ด้านนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานร่วมกันในทุกด้านเพื่อร่วมพัฒนาจังหวัดปัตตานี ทั้งงานในพื้นที่ ระดับท้องถิ่น ท้องที่ ไปจนถึงการร่วมทำแผนพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนงานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจรายได้ของพี่น้องที่ยังมีรายได้น้อย โดยการทำงานของมหาวิทยาลัย คือ การใช้ข้อมูลที่แม่นยำ ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย บูรณาการข้ามศาสตร์ และร่วมมือกับกลไกของจังหวัดในระดับต่าง ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม

โดยที่ผ่านมา จังหวัดปัตตานียังติดอยู่ในลำดับต้นๆ ของจังหวัดที่มีประชากรมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติสุขภาพ การศึกษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การเข้าถึงสวัสดิการ และแม้กระทั่งการอยู่ร่วมกันในสังคม การจะแก้ไขปัญหานี้ได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการและประสานงานกันทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการ นับเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยมาร่วมลงมือทำ มาร่วมหนุนเสริมกลไกการทำงานของจังหวัด

โดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกันในการชี้เป้าครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ ระบบข้อมูลแก้ไขความยากจนระดับจังหวัด (PPAOS) กระทรวง อว. ความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับศักยภาพคนจนและบริบทครัวเรือนเป้าหมาย ดิฉันมั่นใจว่าการผสานพลังในครั้งนี้จะช่วยให้ครัวเรือนเป้าหมายโดยเริ่มจากพื้นที่ประมง ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของปัตตานีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและสามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ในที่สุด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password