คลังชี้! แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนของ สศค. ช่วยรัฐบาลวางนโยบายเชิงกลยุทธ์ตรงจุดมากขึ้น
“รมช.คลัง” เห็นใจ สศค. “คนน้อย – งานหนัก” ชี้! ภารกิจสร้างแผนยุทธศาสตร์แก้หนี้ครัวเรือนจะเป็นแนวทางให้ภาครัฐนำไปกำหนดนโยบายได้ชัดเจนและตรงจุดมากขึ้น ด้าน “ผอ.สศค.” แจง! นักวิชาการในสังกัด เสนอผลงานวิชาการในเวที Fis and Fin Forum 2023 หัวข้อ “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย : เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” หวังยกระดับการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าพัฒนาทักษะทางการเงิน
ช่วงสายวันที่ 20 ต.ค. 2566 ณ ห้องอินฟินิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวเปิด งานสัมมนาวิชาการ Fis and Fin Forum 2023 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตอนหนึ่งว่าขณะนี้ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมทักษะความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินของครัวเรือนไทย
โดยหนึ่งในแผนงานที่สำคัญ คือ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 (แผนปฏิบัติการฯ) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชน ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังที่สำคัญด้านการสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินยังมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะด้านทรัพยากร ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการการดำเนินงานจากหลายภาคส่วน และต้องมีการกำหนดกลุ่มและพื้นที่เป้าหมายที่แม่นยำ แผนปฏิบัติการฯ จึงจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ได้
“ขอขอบคุณ สศค. ที่ได้จัดงานสัมมนานี้ขึ้น รวมถึงการจัดทำผลงานวิชาการที่อาศัยการพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่และการจัดทำนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงตามความเหมาะสม หรือ Data Driven Policy เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในการส่งเสริมสุขภาวะทางการเงิน (Financial Well-being) ของประชาชนและครัวเรือนไทยต่อไป” รมช.คลัง ระบุและว่า…
ภารกิจที่ สศค.ทำในรอบนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายของรัฐในอนาคตได้เป็นอย่างดีอย่างชัดเจน เนื่องจากได้จัดทำข้อมูลหนี้สินของภาคประชาชนที่ครอบคลุมได้ถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จากเดิมที่รู้เฉพาะแค่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เป็นหนี้เท่านั้น ส่วนตัว ตนรู้สึกเห็นใจที่ สศค.มีบุคลากรไม่มาก แต่ภารกิจที่ทำค่อนข้างจะกว้างและลงลึก อีกทั้งงานก็ค่อนข้างจะหนักมาก
ด้าน นายพรชัย ฐีระเวช ผอ.สศค. กล่าวว่า การจัดงานในช่วงเช้า ต่อจากการกล่าวปาฐกถาและเปิดงานของนายกฤษฎา เป็นเรื่องของการนำเสนอผลงานวิชาการของข้าราชการ สศค. ในหัวข้อ “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน” นำเสนอโดย นางสาวเบญญาภา สุขีนุ เศรษฐกรชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งเศรษฐกรชำนาญการพิเศษ นายกวิน เอี่ยมตระกูล เศรษฐกรชำนาญการ นายสัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ เศรษฐกรชำนาญการ และนายอิทธิพัฒน์ ประภาประเสริฐ เศรษฐกรปฏิบัติการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
สศค. ได้นำเสนอเครื่องมือการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนนโยบายและการดำเนินการของภาคการเงิน ตามแผนปฏิบัติการฯ โดยสามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ 1) การสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน อาทิ การศึกษาระดับทักษะทางการเงินเชิงพื้นที่ และการจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (Spatial Financial Fundamental Index: SFFI) เพื่อสะท้อนระดับการบริหารจัดการทางการเงิน การออมและการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงินในมิติต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับการระบุตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วน (กลุ่มเป้าหมายฯ) เปรียบเสมือนการสร้างแผนที่ทางการเงินของครัวเรือนไทย ซึ่งพบว่า กลุ่มเป้าหมายฯ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีระดับทักษะทางการเงินและความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ
และ 2) การนำเสนอแบบจำลองสมการถดถอยเชิงพื้นที่ (Spatial Regression Analysis) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับสุขภาวะทางการเงินผ่าน “ดัชนีรวมสุขภาวะทางการเงิน” ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมโยงผลการศึกษาทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ พื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน (First Priority) เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายในสัดส่วนที่สูงและมีระดับสุขภาวะทางการเงินที่ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และชายแดนภาคใต้ เช่น ศรีสะเกษ (18 อำเภอ) อุบลราชธานี (15 อำเภอ) สุรินทร์ (14 อำเภอ) ชัยภูมิ (11 อำเภอ) นราธิวาส (10 อำเภอ) และแม่ฮ่องสอน (4 อำเภอ) เป็นต้น ทำให้สามารถระบุได้ทั้งพื้นที่ที่ควรให้ความช่วยเหลือ และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรได้รับการพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นเข็มทิศเพื่อการพัฒนาทักษะทางการเงินให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สศค. มุ่งหวังว่า การนำเสนอผลงานวิชาการนี้จะช่วยพัฒนาแนวทางในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแผนงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินได้อย่างเหมาะสมและตรงตามวัตถุประสงค์ และอาจรวมถึงนโยบายด้านการเงินอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ Financial Well-being หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง” ผอ. สศค. กล่าว
อนึ่ง การจัดสัมมนาวิชาการ Fis and Fin Forum 2023 ครั้งนี้ ผู้ร่วมงานมากกว่า 400 คน โดยกล่าวว่า การจัดสัมมนานี้มีขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอแนวคิดเชิงนโยบายของข้าราชการ สศค. พร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของไทย.