สรรพากรตีกรอบนายจ้างยื่นแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผ่านออนไลน์

โฆษกกรมสรรพากร อ้าง  “ประกาศอธิบดีฯ” กำหนดให้นายจ้างยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น  ย้ำ! ป้องกันแก๊งโกงขอคืนเงินภาษี และสร้างรายจ่ายเท็จของภาคธุรกิจ เริ่มใช้จริงปี 2567 เป็นต้นไป

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) (2) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น เงินเดือนค่าจ้าง ค่าคอมมิชชั่น ที่กรมสรรพากรกำหนดให้นายจ้างที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ยื่นแบบ  และนำส่งภาษี ให้กรมสรรพากรเป็นรายเดือนด้วยแบบ ภ.ง.ด.1 และยื่นแบบสรุปรายปีด้วยแบบ ภ.ง.ด.1 ก หรือ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ นั้น ปัจจุบันสัดส่วนชองนายจ้างที่ยื่นแบบดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-Filing ระบบ e-Withholding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์) คิดเป็น ร้อยละ 98 ของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อน Digital Tax Ecosystem ของกรมสรรพากรอย่างเต็มรูปแบบ อำนวยความสะดวกบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ผ่านระบบ My Tax Account เพื่อใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 และป้องกันขบวนการทุจริตขอคืนเงินภาษี รวมทั้งการสร้างรายจ่ายเท็จในภาคธุรกิจ

กรมสรรพากรจึงได้ ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 438)   เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2566 กำหนดให้การยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ต้องดำเนินการ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ระบบ e-Filing ระบบ e-Withholding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น โดยเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบกับการจ่ายเงินได้เดือนภาษีมกราคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

“หากไม่สามารถยื่นแบบดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการในรูปแบบกระดาษ พร้อมหนังสือถึงกรมสรรพากร ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นแบบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สถานประกอบการของนายจ้างที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตั้งอยู่

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรได้พัฒนาบริการยื่นแบบแสดงรายการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการวางเป้าหมายในการสร้าง Digital Tax Ecosystem อย่างครบวงจร เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ การกำหนดให้นายจ้างยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายดังกล่าว อีกทั้ง ช่วยยกระดับบริการที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกรมสรรพากรจะนำข้อมูลเงินได้                  ที่ได้รับจากนายจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาแสดงบนระบบ My Tax Account ให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจัดวางข้อมูลบนแบบแสดงรายการภาษีในรูปแบบ Pre-Fill สร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) ในขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ให้แก่ผู้เสียภาษี.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password