“พิพัฒน์”เชิญชวน “แรงงานไทย”ทดสอบวัดทักษะ รองรับ “ปรับค่าจ้าง” ตามมาตรฐานฝีมือ

“พิพัฒน์ รัชกิจปราการ” รัฐมนตรีแรงงาน เชิญชวนให้ แรงงานไทย เข้าอบรมพัฒนาและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มรายได้ตามกลไก “ไตรภาคี” ที่มากกว่ารายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ นายจ้างมั่นใจได้ว่าจะได้แรงงานที่มีคุณภาพ
วันที่ 18 ก.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานว่า โดยที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 54 สาขา ใน 3 ระดับฝีมือ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศไปแล้ว 129 สาขาอาชีพ อาทิ ช่างเย็บผ้า ระดับ 1 จากเดิมวันละ 345 บาท เป็น 370 บาท ช่างปูกระเบื้อง ระดับ 1 จาก 450 บาท เป็น 485 บาท ช่างไฟฟ้าอาคาร ระดับ 1 จาก 440 บาท เป็น 470 บาท ช่างซ่อมเครื่องยนต์ จาก 400 บาท เป็น 430 บาท เป็นต้น

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้แรงงานกึ่งฝีมือ หรือ แรงงานมีฝีมือที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ มีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้แรงงานได้มีการพัฒนาฝีมือและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 – 22 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว 129 สาขา สำหรับมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น เป็นข้อกำหนดทางวิชาการที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และมีเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานที่แตกต่างกันในแต่ละสาขา ซึ่งผู้ที่ผ่านการทดสอบจะได้ใบรับรองผ่านการทดสอบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

“เป้าหมายสำคัญที่ทางกระทรวงแรงงานวางไว้ คือ ต้องการให้พี่น้องแรงงานได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน Up Skill / Re Skill ให้มีทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงและมีมาตรฐานฝีมือ แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือตามสาขาจะได้รับการจ้างงานและได้ค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะฝีมือ ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นไปตามกลไกการจ่ายค่าจ้างตามความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ส่วนนายจ้างและสถานประกอบกิจการเองก็จะได้แรงงานที่การันตีทักษะฝีมือ สอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงานอีกด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ นักศึกษาจบใหม่ ลูกจ้างที่ต้องการค่าจ้างที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือ สามารถเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยติดต่อได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ โทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติไม่ว่าก่อน หรือหลังที่มีการออกประกาศและมีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะใช้สิทธิให้ยื่นหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือในสาขาอาชีพและระดับนั้นแก่นายจ้างโดยเร็วและเมื่อนายจ้างได้รับหนังสือรับรองแล้ว ให้จ่ายค่าจ้างตามอัตราในประกาศนี้ให้แก่ลูกจ้าง โดยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจะมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password