จอม’กลยุทธ์ : ‘วิทัย รัตนากร’ นักกลยุทธ์…สร้างตำนานอิมแพคคู่ขนาน ‘ธุรกิจ + สังคม’
ในมุมมองของ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” แล้ว “วิทัย รัตนากร” สมควรจะติดชั้น “The Most Strategist” ด้วยการฝากผลงานที่จับต้องและพิสูจน์ได้ ผ่านกลยุทธ์การบริหารและดำเนินการคู่ขนาน “เงินและกล่อง” สร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม กันแนวคิดการเป็น…ธนาคารเพื่อสังคม ก่อเกิด “อิมแพค” ทั้งในมิติเพื่อธุรกิจและมิติเพื่อสังคม อย่างมีนัยสำคัญทีเดียว
“วิทัย รัตนากร” เข้ารับตำแหน่ง ผอ.ธนาคารออมสิน คนที่ 17 เมื่อกลางเดือน มิ.ย.2563 ในวัยขณะนั้น 49 ปี ผ่านมา 3 ปีเศษ หลายสิ่งที่เขาได้สานต่องานเก่า ควบคู่กับสร้างสิ่งใหม่ๆ ในเชิงกลยุทธ์ ผ่านยุทธศาสตร์การทำงานแบบคู่ขนาน…
“ทั้งเงินและกล่อง”
กล่าวคือ…ธุรกิจจะต้องเดินหน้าต่อไป (มีกำไรที่เหมาะสม) ขณะเดียวกัน ก็ต้องช่วยเหลือสังคม (บรรเทาปัญหาหนี้สิ้นและลดภาระดอกเบี้ย บนความเป็นธรรม)
นำสู่แนวคิดที่แตกต่างไปจาก “นักการเงินการธนาคาร” ทั่วไป กระทั่ง พัฒนากลายเป็น…นโยบายหลักของธนาคารแห่งนี้ สืบมา…
Social Bank หรือ…ธนาคารแห่งการช่วยเหลือสังคม คือ จุดยืนอันเกิดจากยุทธศาสตร์การทำงานแบบคู่ขนานที่ว่านี้…
วลี “วิกฤติคือโอกาส” อาจสะท้อนความเป็นตัวตนของธนาคารออมสิน ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะในห้วงที่ “วิทัย” เข้ารับตำแหน่งนี้…เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มจะรุนแรงและขยายผลในวงกว้าง ทำให้ภารกิจในยามนั้น…ต่างจากทุกวิกฤติที่เคยประสบกันมา
ด้านหนึ่ง…ยังต้องดำเนินธุรกิจตามปกติ อีกด้านหนึ่ง…ก็ต้องช่วยเหลือประชาชน ตามเจตนารมณ์และตามพันธกิจของรัฐบาล
นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายความเป็นตัวตนของธนาคารออมสิน และศักยภาพของ “วิทัย” ที่จะต้องทำ 2 ภารกิจสำคัญควบคู่กันไป
ผ่านมา 3 ปีเศษ…สิ่งที่ “วิทัย” ในบริบท “ผอ.ธนาคารออมสิน” ได้รังสรรค์เอาไว้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งนี้…ถือว่า “สอบผ่าน” และผ่านเกินเกณฑ์มาตรฐานขั้นสูงสุดด้วยซ้ำไป!
การแถลงข่าวครั้งสำคัญ เมื่อปลายเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา, ธนาคารออมสิน ในการนำของ “วิทัย” ได้สะท้อนข้อมูลผลการดำเนินงาน บนความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ภายใต้พันธกิจการดำเนินงานที่เน้นความ…. “ยั่งยืน” (Sustainability) และ “รับผิดชอบต่อสังคม” (Responsible) ด้วยการดำเนินงานภายใต้แนวคิด ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล) เอาไว้อย่างน่าสนใจ…
“ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่ดำเนินการโดยใช้แนวคิด ESG เป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ มุ่งสร้าง Social Impact ที่เป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการดำเนินงาน ESG in action บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปสู่เป้าหมายช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยที่ผ่านมาธนาคารสามารถสร้าง Social Impact ประเมินมูลค่าแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท” เขาระบุในการแถลงข่าวในวันนั้น
ESG in action หรือการดำเนินธุรกิจด้วยกรอบแนวคิด ESG ของธนาคารได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวก เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านธรรมาภิบาล โดยในด้าน…
E : สิ่งแวดล้อม ธนาคารได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านการออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อ GSB for BCG Economy สินเชื่อ Green Biz, Green Home Loan และสินเชื่อบุคคล GSB Go Green รวมถึง การจัดจำหน่าย ESG Bond ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของตราสารหนี้ภาครัฐ และติด 1 ใน 10 ของตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินจัดจำหน่ายรวม 20,000 ล้านบาท
ล่าสุด ธนาคารได้กำหนดให้มีการใช้ ESG Score (เป็นธนาคารแรก) เป็นเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินกู้ 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยลูกค้ารายที่มีผลคะแนน ESG Score ในระดับดีมาก ธนาคารจะให้การสนับสนุนโดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเพิ่มวงเงินให้กู้ ส่วนรายที่คะแนน ESG Score ต่ำกว่า 2 ธนาคารสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาให้กู้ไว้ก่อน แต่จะเข้าช่วยเหลือมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับการดำเนินงานของลูกค้าด้าน ESG ให้ดีขึ้น โดยธนาคารมีเป้าหมายจะประกาศให้เป็น GSB Net Zero Target อย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ภายในปี 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี 2050
S : สังคม เป็นภารกิจหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้ากลุ่มฐานราก โดยเน้นดำเนินการใน 3 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ โดยการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและกลุ่มฐานรากได้แล้วกว่า 3.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.2 ล้านคนเป็นผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบเพราะมีเครดิตต่ำหรือไม่มีเครดิตทางการเงินมาก่อน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนกว่า 48,000 ราย ก็ได้รับการเติมทุนเสริมสภาพคล่องเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ให้สามารถนำไปประคองธุรกิจและฟื้นฟูกิจการให้เดินหน้าต่อได้ ส่วน
มิติที่ 2 การปรับโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดให้เป็นธรรม ผ่านการเข้าทำธุรกิจสร้างการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งสามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ลงมาอยู่ที่ 16-18% ในปัจจุบัน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้ ซึ่งประสบความสำเร็จนำไปสู่การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเม็ดเงินกว่า 25,000 ล้านบาท
และ มิติที่ 3 การสร้างงานสร้างอาชีพ สามารถพัฒนาทักษะอาชีพแก่ประชาชนได้มากกว่า 300,000 ราย ให้เงินทุนประกอบอาชีพมากกว่า 140,000 ราย และสร้างช่องทางการขายแล้ว 25,000 ร้านค้า ผ่านกิจกรรมของโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการออมสินxอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน เป็นต้น
G : ธรรมาภิบาล ธนาคารดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ยึดมั่นในการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล ผ่านกระบวนการปรับลดงบประมาณองค์กรลงเกือบ 25% ต่อปี โดยในปี 2566 ได้ลดการตั้งงบประมาณลงถึง 9,800 ล้านบาทต่อปี นอกจากการใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่าแล้ว ยังมีการปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสในการทำธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งของธนาคารโดยได้เพิ่มปริมาณเงินสำรองทั่วไปได้มากกว่า 46,000 ล้านบาทในระยะเวลาเพียง 3 ปี รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร รณรงค์ส่งเสริมต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยธนาคารได้รับผลประเมิน ITA ปี 2565 ระดับสูงสุด 4 ปีติดต่อกัน
ผลจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงานนี้เอง ทำให้ ธนาคารออมสิน ภายใต้ภาพลักษณ์ความเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” สามารถสร้างผลงานทั้งในด้าน “ธุรกิจ” และ “สังคม” ได้อย่างโดดเด่น
ผลดำเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2566 ทำกำไรกว่า 1.7 หมื่นล้าน สินเชื่อรวม 2.35 ล้านล้าน เงินฝากรวม 2.68 ล้านล้าน ขณะที่ NPLs ยังอยู่ในระดับเดิมที่ 2.63% ที่สำคัญความมั่นคงของธนาคารฯ สะท้อนภาพการมีเงินสำรองมากกว่า 1 แสนล้านบาท “สูงสุดเป็นประวัติการณ์”
การสร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น…สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (มอเตอร์ไซค์) ที่สามารถลดภาระหนี้ของกลุ่มนี้ลงได้อย่างมาก จากเดิมที่จ่ายดอกเบี้ย 26-28% เหลือเพียงแค่ 18% โดยประมาณ หรือแม้แต่การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย ผ่านสินเชื่อ “มีที่มีเงิน” สามารถสร้างโอกาสและการเข้าถึงแหล่งเงิน โดยมีภาระดอกจ่ายที่ต่ำและเป็นธรรม
นี่ยังไม่รวมการให้สินเชื่อรายย่อยแก่ผู้คนมากหน้าหลายตา…นับจำนวนหลายล้านคน
ทั้งหมดคือ พันธกิจของความเป็น “นักกลยุทธ์” ผู้มากฝีมือและเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์! ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หาก “วิทัย รัตนากร” คนนี้…จะคว้ารางวัลระดับประเทศมากมายมาครอบครอง ไม่ว่าจะเป็น…
รางวัล “นักการเงินแห่งปี 2565” หรือ รางวัลที่องค์กรของเขา (ธนาคารออมสิน) ได้รับ คือ… “ธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2566” และ “ธนาคารที่มีบริการยอดเยี่ยมด้านเงินฝาก 2566” จากวารสารการเงินการธนาคาร เมื่อไม่นานมานี้…
ล้วนแล้วสะท้อนความเป็น “นักการเงินการธนาคาร…มืออาชีพ” อย่างแท้จริง!
นาทีนี้…หากไม่จัดให้ “วิทัย รัตนาการ” ผอ.ธนาคารออมสิน อยู่ในชั้น “The Most Strategist” ในสายตาของ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” เองแล้ว ก็แปลกแล้วล่ะ!!!.
ทีมข่าวยุทธศาสตร์