ยุทธศาสตร์แห่งโอกาส : ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ – พลังงานไฟฟ้าไร้ขีดจำกัด สะอาด ปลอดภัย ประหยัด

สปป.ลาวมีโปรเจต์ “แบตเตอรี่ ออฟ เอเชีย” ส่วนเวียดนาม ยังประสบปัญหา “ไฟฟ้าดับ” เพราะรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เติบโตแบบก้าวกระโดดไม่ทัน! แต่ประเทศไทยของเรา…มองการณ์ไกล! กับแผนผลิต “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” (ทาโคแมค) เครื่องแรกของอาเซียน สร้างโอกาสผลิตกระแสไฟฟ้าไร้ขีดจำกัด สะอาด ปลอดภัย และประหยัด รองรับโอกาสใหม่ๆ ทั้งต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจ และทุกชีวิตในไทย  

โอกาสมีอยู่ทุกที่! ขึ้นกับว่า…ใครจะมองเห็นและไขว่คว้าเอามันมาครอบครองได้? ยิ่งเป็น นักปกครองและผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น…หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน แล้ว วิสัยทัศน์ที่จะนำมาซึ่งโอกาส อาจเอื้อมถึงได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ด้วยองคาพายพที่มีความพร้อมมากกว่า…

แต่ต้องไม่ลืม กลยุทธ์สำคัญที่จะไขว่คว้าหยิบมันมาครอบครองเอาไว้ให้ยาวนานและใช้โอกาสที่ได้มานี้…ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เพราะมันมาแล้วก็ไป…ช่างรวดเร็วมาก!!!

ระดับประเทศ…ไม่เฉพาะ “ผู้นำประเทศ” หากแต่ “ผู้นำองค์กร” ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับภารกิจสำคัญของต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็น….ผู้นำองค์กรระดับนโยบาย (ฝ่ายการเมือง) หรือ ระดับปฏิบัติการ (ฝ่ายข้าราชการประจำ) จำเป็นจะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรและประเทศชาติอย่างลงลึก สม่ำเสมอ และตลอดเวลาด้วย

ผมเห็นข่าว “ไฟฟ้าดับ!” ที่เกิดขึ้นบ่อยและถี่มากในประเทศเวียดนาม ก็อดเป็นห่วงประเทศไทยของเราไม่ได้ จากข่าว…ระบุชัด! ช่วงหลังๆ มานี้ประเทศเวียดนามเริ่มประสบกับปัญหา “ไฟฟ้าดับ!” อย่างต่อเนื่อง บางวัน…ในบางเมือง ดับติดต่อกันหลายครั้งๆ ละหลายชั่วโมง

บางเมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ต่างก็ประสบกับปัญหา “ไฟฟ้าดับ!” กันที…ยาวนานถึงครึ่งวัน สร้างความเสียหายต่อภาคการผลิตของหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม

และนี่อาจจะเป็นเหตุผลทำให้ โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งของนักลงทุนต่างชาติ กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกไปจากเวียดนามก็เป็นได้

เห็นไหมครับว่า…การบริหารจัดการและการสำรองกระแสไฟฟ้าได้ไม่พอกับความต้องใช้ทั้งของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และของประชาชนคนในชาติ ย่อมก่อเกิดผลเสียหายมากมายขนาดไหน?

เมื่อคราวที่ได้เข้าร่วม คณะของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ในทริป…สื่อมวลชนสัญจร Press Visit เส้นทางหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ณ สปป.ลาว เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.2566 ที่ผ่านมานั้น

มีประเด็นที่ผมได้เรียนสอบถามต่อ ที่ประชุมร่วมระหว่าง คณะของ NEDA กับ คณะผู้บริหารโครงการท่าบกท่านาแล้งและเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ กรณีที่ว่า…ด้วยความเป็น “แบตเตอรี่ ออฟ เอเชีย” หรือแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรองให้กับภูมิภาคเอเชียของ สปป.ลาว

สิ่งนี้…ได้สร้างโอกาสมากมายสักเพียงใด? ต่อโอกาสทั้งความเป็น…ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางบกผ่านระบบราง และศูนย์กลางความเป็นเมืองโลจิสติกส์สำคัญของอนุภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกับกรณีศึกษาเกี่ยวกับปัญหา “ไฟฟ้าดับ!” ของประเทศเวียดนาม

คำตอบที่ได้คือ…มีโอกาสสูงมาก!

เพราะ สปป.ลาว นอกจากจะมี โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง “จีน-ลาว” (ที่จริงต้องเรียกว่า…รถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง เนื่องจากมีระดับความเร็วสูงสุดได้เพียง 150-160 กม./ชม.เท่านั้น) แล้ว ภาพฝันในอนาคตอันใกล้ของพวกเขา ก็คือ…การสร้างเมืองใหม่และนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึง แผนการสร้าง “นครหลวงเวียงจันทน์แห่งใหม่” จำเป็นจะต้องมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองอย่างเพียงพอ รอบรับปริมาณความต้องการใช้ ทั้งของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและของประชาชนลาว

รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยวของนักลงทุนต่างชาติที่พวกเขาเชื่อว่า…นอกจาก กลุ่มทุนจีน แล้ว ยังจะมีจาก ภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะ…กลุ่มทุนไทย

พูดได้ว่า…วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แห่งโอกาสของ ผู้บริหาร สปป.ลาว ยุคนี้ กับนโยบาย “แบตเตอรี่ ออฟ เอเชีย” นั้น…ไม่ธรรมดาทีเดียว! (แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่า…ทางฝั่งประเทศเวียดนามจะมีปัญหาอะไรนะครับ? หากจะมี ก็คงเพราะ…อัตราการเติบของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจากกลุ่มทุนต่างชาติ มาแรงและเร็วเกินกว่าปริมาณการผลิตและสำรองกระแสไฟฟ้าที่เวียดนามจะพึงมีรองรับได้)

หันมาดูที่ ประเทศไทยของเรา ทั้งภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังการเติบโตอยู่ในระดับที่สูงมากๆ โดยเฉพาะอย่างหลัง (ภาคบริการและการท่องเที่ยว)…ที่ประเทศไทยได้รับการจัดเกรดให้ “ติดอันดับนำของโลก” มายาวนานต่อเนื่อง

ประเทศไทยของเรา…มีความจำเป็นจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้า และเตรียมการสำรองพลังงานไฟฟ้ามากมายสักเพียงใด? จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องใช้ภายในประเทศ

จากข้อมูลที่ คุณวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุไว้เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ถึงคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี 2566 ว่า จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ที่ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 34,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะเติบโตขึ้นจากปี 2565 ตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา และการใช้พลังงานก็เพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หน่วยกำกับดูแลอย่าง…คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้วางเป้าหมายในการผลิตและสำรองกระแสไฟฟ้าเอาไว้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการเข้าใจผิดของสังคมไทย! กระทั่ง สนพ.จำต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ในประเด็นที่ถูกระบุว่า…ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่า 50% จนเป็นเหตุทำให้ราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยแพงขึ้นกว่าเดิม

ข้อเท็จจริงแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ จะไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงต้องใช้ “ตัวคูณ” ลดทอนให้เหมาะสมกับสภาพโรงไฟฟ้าแต่ละชนิด

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทุกวันนี้ ประเทศไทยเรามีปริมาณสำรองกระแสไฟฟ้าเพียง 36% เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เพียงพอในระดับที่ไว้วางใจได้ว่า…ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทย จะไม่ประสบปัญหาเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย

เพียงแต่สิ่งนี้…อาจต้องแลกมาด้วยการที่คนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น! เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากน้ำมันเป็นหลัก ที่ผ่านมา…การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถูกต่อต้านจากชาวบ้านและเอ็นจีโอ ไม่ให้ดำเนินการสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน

จำเป็นที่ รัฐบาลและหลายหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จะต้องมองหา “ทางออก” ของปัญหานี้ และไทยเราก็เพิ่งจะมีข่าวดี ซึ่งสำหรับผมแล้ว ถือว่าเป็น “ที่สุดแห่งโอกาสดี” ของประเทศไทย กันเลย นั่นก็คือ…

แนวคิดในการผลิต “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” หรือ “ทาโคแมค” (เครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกริยาฟิวชัน เลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูง โดยใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลก) ขึ้นมาเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าที่ปลอดภัย และสะอาด อย่างไร้ขีดจำกัด ผลิตได้ไม่มีวันหมด ด้วยต้นทุนที่ประหยัดสุดๆ

และสิ่งนี้…กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึงกับระบุว่า…มันถือการปฏิวัติทางพลังงานครั้งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21 กันเลยทีเดียว!

รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในสังกัด อว. ระบุเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.2566 ที่ผ่านมาว่า…จากนี้ ไม่เกิน 1 ปี ประเทศไทยของเราจะมีเครื่องโทคาแมค เครื่องแรกของอาเซียน โดยความช่วยเหลือของทางการจีน และในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยเราจะมีดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ที่สร้างด้วยฝีมือของคนไทย

มากไปกว่านั้น เรายังฝันไปไกลถึงขนาดที่ว่า…ภายใน 30 ปีนับจากนี้ ไทยจะมีโรงงานไฟฟ้าฟิวชัน ด้วยพลังงานจากดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ 

ถึงตรงนี้…คนไทยเราก็คงรู้สึกพอเบาใจ และร่วมภาคภูมิใจกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ อว. ไปด้วยกัน เพราะจากนี้…อย่างน้อยก็อีกไม่เกิน 1 ปี ไทยเราจะมีแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าฟิวชัน ด้วยเครื่องทาโคแมค เครื่องแรกของไทยและของอาเซียน

จากนี้…ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าแพง รวมถึงปัญหาไฟดับระหว่างวัน (หวังว่า…) คงจะไม่เกิดกับประเทศไทย!!!.

สุเมธ จันสุตะ

email : schansuta@gmail.com

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password