การบินไทย จ่อยุบ “ไทยสมายล์” ควบรวม-ลดต้นทุน ตอบโจทย์ เรื่อง Economies of Scale
การบินไทย ปรับโครงสร้างใหญ่อีกรอบ จ่อยุบสายการบิน ไทยสมายล์ รวมทีมบริหาร-พนักงาน-เครื่องบิน พร้อมระบบแบ็กออฟฟิศทั้งหมด วางแผนกระชับพื้นที่ลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพทำงาน เผยขาดทุนต่อเนื่อง 10 ปีตั้งแต่เปิดดำเนินการ “ชาย เอี่ยมศิริ” ซีอีโอใหม่การบินไทย เผยอยู่ระหว่างศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ความเป็นไปได้ คาดได้ข้อสรุปในอีก 2 เดือนข้างหน้า ยันแนวทางนี้อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมตอบโจทย์เรื่อง Economies of Scale
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวภายในของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า ขณะนี้บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจการบินครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยจะเป็นการยุติบทบาทสายการบิน “ไทยสมายล์” ให้เหลือการบินไทยเพียงแบรนด์เดียว เพื่อให้การดำเนินงานในภาพรวมทั้งหมดเดินไปภายใต้ยุทธศาสตร์และทีมบริหารชุดเดียวกัน
โดยบริษัทจะทำการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเหมือนในอดีต ที่ยังไม่ได้ตั้งสายการบินไทยสมายล์ สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศและเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง จะทำการบินด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก A320 ซึ่งปัจจุบัน ไทยสมายล์ใช้ทำการบินอยู่ ส่วนเส้นทางบินระยะไกลจะเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่การบินไทยทำการบินอยู่ในปัจจุบัน แนวทางดังกล่าวเป็นแผนรวมพลัง หรือ synergy ธุรกิจในเครือทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยรวมศูนย์การบริหาร พนักงาน เครื่องบิน ลูกเรือ-นักบิน รวมถึงระบบแบ็กออฟฟิศ ทั้งฝ่ายการเงิน บัญชี ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายบุคคล ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์เรื่องลดต้นทุน
นอกจากนี้ ในส่วนของอาหารและแคเทอริ่งก็สามารถใช้ศักยภาพของครัวการบินไทยได้ทั้งหมด ไม่ต้องจ้างผู้ผลิตรายอื่น รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ บนเครื่องบินก็สามารถรวมจัดซื้อจากแหล่งเดียวกัน เพื่อให้มีวอลุ่มที่มีกำลังต่อรองมากยิ่งขึ้นด้วย “ปัจจุบันสายการบินไทยสมายล์ เป็นสายการบินในระดับภูมิภาค ดำเนินธุรกิจในนามบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่การบินไทยถือหุ้น 100% โดยที่ผ่านมาเราแยกกันบริหารอย่างชัดเจน ทำให้มีต้นทุนการบริหารเกินความจำเป็น เช่น ต้นทุนค่าเช่าสำนักงาน ต้นทุนจ้างผลิตอุปกรณ์และอาหารที่ให้บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น” แหล่งข่าวกล่าว
จากแนวทางการบริหารงานดังกล่าวทำให้ไทยสมายล์ประสบปัญหาและอุปสรรคมากมาย และยังไม่เคยทำกำไรเลยแม้แต่ปีเดียวนับตั้งแต่เปิดดำเนินธุรกิจมา 10 ปี สำหรับแผนดังกล่าวปัจจุบันทีมผู้บริหารระดับสูงอยู่ระหว่างทำการศึกษา ข้อดี-ข้อเสีย และความเป็นไปได้ทั้งในทางกฎหมายและการตลาด โดยจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าหลังจากรวมกันแล้ว บริษัทการบินไทยจะทำการบินภายใต้แบรนด์ทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ หรือ จะเหลือแค่การบินไทยเพียงแบรนด์เดียว ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะได้ข้อสรุปและสามารถดำเนินงานภายใต้โครงสร้างใหม่ภายในปี 2566
“ที่ผ่านมาทั้งบริษัทการบินไทยและไทยสมายล์ต่างก็มีมาตรฐานที่เป็นระดับสากลอยู่แล้ว การควบรวมจึงไม่น่ามีปัญหา หากศึกษาแล้วพบว่าในทางกฎหมายสามารถใช้แบรนด์การบินไทยแบรนด์เดียวได้ก็น่าจะยุบแบรนด์ไทยสมายล์ แต่หากไม่สามารถทำได้ เราก็คงต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ 2 แบรนด์เหมือนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว และว่า หากศึกษาแล้วได้ข้อสรุปว่าต้องเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม และจะไม่กระทบกับพนักงาน ซึ่งก็จะโอนย้ายพนักงานไทยสมายล์ไปเป็นพนักงานการบินไทย เพราะปัจจุบันทางการบินไทยก็มีปัญหาขาดแคลนพนักงานอยู่แล้ว
กรณีดังกล่าว สอดรับ ผู้บริหาร บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด ที่ระบุว่า มีการพูดคุยและศึกษากันมาระยะหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มสูงว่าจะยุบแบรนด์ไทยสมายล์เหลือเพียงแค่แบรนด์การบินไทยเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้แจ้งพนักงานแล้วว่าสายการบินไทยสมายล์อาจควบรวมกับการบินไทย ยุติบทบาทของแบรนด์ไทยสมายล์ ทั้งนี้ หากข้อสรุปว่าต้องควบรวมจริงในส่วนของนักบิน ลูกเรือ ก็ต้องเปลี่ยนยูนิฟอร์มเป็นของการบินไทย รวมถึงอาหารที่ให้บริการบนเครื่องบินก็จะเปลี่ยนเป็นแบรนด์การบินไทยทั้งหมดด้วยเช่นกัน
“ประเด็นนี้ผู้บริหารแจ้งพนักงานมาเป็นระยะ โดยในส่วนของลูกเรือ นักบิน ก็ยังให้ชะลอแผนการเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มเก่าที่ถึงรอบเปลี่ยนออกไปก่อนเพื่อรอข้อสรุป เพราะหากควบรวมและยุบสายการบินไทยสมายล์ พนักงานก็จะอยู่ภายใต้ยูนิฟอร์มการบินไทยทั้งหมด โดยล่าสุดผู้บริหารระบุว่าน่าจะมีข้อสรุปภายในกลางปีนี้ และน่าจะเริ่มโครงสร้างใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้”
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับ ว่า ปัจจุบันผู้บริหารอยู่ระหว่างทำการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปว่า มีข้อดี-ข้อเสียของการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป และระบุว่าแนวทางดังกล่าวกำหนดอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของผู้บริหารแผนฟื้นฟูและคณะกรรมการเจ้าหนี้ไปแล้ว “การปรับโครงสร้างลักษณะนี้เป็นการปรับใหญ่ จำเป็นต้องมีกรอบเวลามากพอสมควรในการพิจารณารายละเอียด และดำเนินการอย่างรอบคอบ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วต้องนำเสนอผู้บริหารแผนและคณะกรรมการเจ้าหนี้ต่อไป” นายชายกล่าว และ ย้ำว่า เป้าหมายในการปรับโครงสร้างใหญ่ครั้งนี้เป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก ทั้งในด้านการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่า และบริหารจัดการคนที่มีอยู่มีศักยภาพมากขึ้น รวมถึงตอบโจทย์ในเรื่องของ economies of scale หรือการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นวางยุทธศาสตร์ให้ทำงานสอดรับและไปในทิศทางเดียวกับการบินไทย โดยเฉพาะการจัดเส้นทางการบินที่สนับสนุนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เส้นทางบินของการบินไทย และมีความชัดเจนด้านตำแหน่งทางการตลาด
อนึ่ง บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 17 ตุลาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เริ่มทำการบินวันที่ 10 เมษายน 2557 ใช้รหัสสายการบิน WE มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดนับจากการก่อตั้งบริษัท ปัจจุบันมีตัวเลขขาดทุนสะสมมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยข้อมูลงบการเงินปีสุดท้ายคือ ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 3,792 ล้านบาท หนี้สินรวม 25,838 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์เพียง 11,876 ล้านบาท.