ครม.ผ่าน 4 ร่างกฎหมายการลงทุน-สินทรัพย์ดิจิทัล
ครม.มีมติเห็นชอบผ่าน 4 ร่างกฎหมายด้านการลงทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เผย! การส่งเสริมตลาดทุนต้องพ่วงไปกับการเพิ่มอำนาจกำกับดูแลทั้งระบบในอนาคต ลุ้นเข้าเวทีสภาฯ ในเร็วๆ นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พ.ศ. …. โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์และสาระสำคัญ ดังนี้
1. ส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัล โดยเพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน การออกและส่งมอบหลักทรัพย์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการออกเสนอขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยทำให้การดำเนินการในภาคตลาดทุนสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบถ้วนทั้งระบบ และมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม
2. เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่และการเปิดเผยงบการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การกำกับดูแลบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนในตลาดทุนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) จะสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดต้นทุนหรือภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินควร
3. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์รวมถึงโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ รวมถึงเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ฝากหลักทรัพย์ที่ฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์
4. เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการระดมทุน สำนักงานสอบบัญชี และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน เช่น เพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม หุ้นกู้ การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีกับผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน การให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการจดข้อจำกัดการโอนและกำหนดแนวทางการรายงานผลการเสนอขายหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น เพื่อลดข้อจำกัดในการระดมทุนในทางปฏิบัติ และให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีเครื่องมือการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน
5. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดมาตรการลงโทษ โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดบางประเภท การกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวน และเพิ่มบทบัญญัติในเรื่องโทษปรับเป็นพินัยเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เพื่อให้บุคคลที่จะให้ข้อมูลเบาะแสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดบางประเภทได้รับความคุ้มครองในแนวทางเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นการสนับสนุนกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยเพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้สอดคล้องกัน รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเพื่อความชัดเจนให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ จะช่วยส่งเสริมการมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัลในการดำเนินการของภาคตลาดทุนโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนทั้งระบบ ทำให้ผู้ลงทุนและกิจการเข้าถึงตลาดทุนได้สะดวก มีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดรอง และองค์กรที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ช่วยลดข้อจำกัดในการระดมทุนในทางปฏิบัติ และทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีเครื่องมือในการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้รับความคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดมาตรการลงโทษ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตลาดทุนโดยรวม ส่งผลให้ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป.