รัฐหนุน กอช. รุก ‘5 แผนยุทธศาสตร์’ เพิ่มยอดคนออม – สร้างบำนาญทุกจังหวัดทั่วไทย

งานช้าง! ของหน่วยส่งเสริมการออมภาคแรงงานนอกระบบ ดึงบรรดาบิ๊กจาก ก.คลังและมหาดไทยร่วมมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ด้าน “รมว.คลัง” หนุน กอช.รุกหนัก ดึงคนไทยร่วมออมเงิน อิงแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ขณะที่ เลขาฯกอช.ย้ำแผนงานปี 2566! พร้อมเดินหน้าสร้างความรู้การวางแผนทางการเงิน และสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ใน 6 ภาคทั่วไทย หวังเพิ่มยอดคนร่วมออม สร้างบำนาญให้แรงงานไทยอาชีพอิสระได้มีหลักประกันบั้นปลายชีวิต เผย! คนทุกจังหวัดต้องมีเงินออมยามเกษียณ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมมอบนโยบายบทบาทกองทุนการออมแห่งชาติ ในการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ประจำปี 2566 โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี และ นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ รวมถึง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน กอช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดการ และ นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ให้การต้อนรับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า  ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งประเทศ และจากอัตราการเกิด  ที่ลดลง ประกอบกับประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรสูงอายุ  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือมีประชากรสูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ในปี 2577  การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงควรมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ

ทั้งนี้ การออมเพื่อการเกษียณเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยรัฐบาลได้มีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐในการพัฒนาระบบการออมให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยกำหนดกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมนั้นคือ การมีระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันรายได้หลังวัยเกษียณที่เพียงพอและครอบคลุมในกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงแผนระดับรองที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ แผนแม่บท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ตลอดจน แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมาย  ให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รวมถึงมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต

สำหรับแรงงานในระบบมีการออมเงินภาคบังคับตามกฎหมายผ่านกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีระบบการออมภาคสมัครใจรองรับ โดยสามารถส่งเงินออม ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติหรือกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม อย่างไรก็ดี การส่งเสริมการออมของกลุ่มแรงงานนอกระบบยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันยังมีแรงงานนอกระบบ อีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ โดยในปี 2565 พบว่า แรงงานนอกระบบ 29.5 ล้านคน มีการออมเพื่อการเกษียณ 13.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แบ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายประกันสังคม จำนวน 10.9 ล้านคน และสมาชิก กอช. จำนวน 2.5 ล้านคน จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณอีก 16.1 ล้านคน หรือร้อยละ 55 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

การส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีการออม เพื่อการเกษียณที่เพียงพอ จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน ซึ่ง กอช. เป็นกองทุนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออม และสร้างหลักประกันทางด้านรายได้ในยามชราภาพให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งสร้างวินัยการออมให้ประชาชนคนไทยตั้งแต่วัยเด็กให้สามารถเข้าถึงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างทั่วถึง

ที่ผ่านมา กอช. ได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเพิ่มจำนวนสมาชิก และส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สถาบันการเงินของรัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หน่วยงานภาคีเครือข่าย และหน่วยงานอื่น ๆ ส่งผลให้จำนวนสมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน ในปี 2558 เป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2565 เงินกองทุนเพิ่มจาก 1,155 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เป็น 11,669 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565

กอช. นับว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้มีงานทำ เด็กและเยาวชน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งประชาชนสูงวัย โดยที่ผ่านมา กอช. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระกับ กอช. ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ Facebook Live และช่องทางออนไลน์อื่น ๆ รวมทั้งการจัดทำโครงการสถานศึกษาส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. โดยทำความตกลงและความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษาเข้าใจการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล ส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการลงทุนให้กับนิสิต นักศึกษา ทั้งการสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาบรรจุเนื้อหาการวางแผนทางการเงินและการลงทุนในวิชาศึกษาทั่วไป (General Education, GenEd) การจัดบรรยาย การอบรมให้ความรู้ ตลอดจนอบรมทักษะทางการเงินให้แก่ ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของ กอช. สอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ต้องการให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน รวมถึงมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต  แม้ว่าที่ผ่านมา กอช. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการขับเคลื่อนการหาสมาชิกอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ

กระทรวงการคลังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการออมของแรงงานนอกระบบ จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก และสมาชิกทุกช่วงอายุมีการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน จากเดิมประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม ซึ่งการปรับเพิ่มจำนวนเงินสะสมและจำนวนเงินสมทบดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการออมของแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มแรงจูงใจในการออม รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ โดยเฉพาะส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนมีการออมเพื่อการเกษียณเร็วขึ้น

ในส่วนของ กอช. ภารกิจสำคัญ ในระยะต่อไปยังคงต้องมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการมีระบบการออมเพื่อการเกษียณอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กอช. ก็ควรพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับทั้งสมาชิกใหม่และสมาชิกปัจจุบัน พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ และสร้างวินัยการออมให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

โดยการดำเนินการในระยะต่อไป กอช. มีแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1  มุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าของการออมผ่าน กอช. โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของ กอช. ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของ กอช. และเสริมสร้างค่านิยมสังคมการออม

ยุทธศาสตร์ที่ 2  พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก (Customer Centric)  โดยมุ่งเพิ่มยอดสมาชิกใหม่กระตุ้นการออมสมาชิกเก่าและสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกจากการรับบริการจาก กอช.

ยุทธศาสตร์ที่ 3  บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง โดยปรับปรุงกฎหมายและการบริหารเงินทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกและสร้างโอกาส ความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว

ยุทธศาสตร์ที่ 4  ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กร โดยเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีและฐานข้อมูลภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 5  ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการภายในองค์กร  โดยการพัฒนาองค์กรทั้งในเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการ การส่งเสริมสมรรถนะภายในองค์กร รวมทั้งความสามารถรองรับการบริการในสภาวะวิกฤต ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล         

การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านนี้ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณ รู้จัก และเข้าร่วมเป็นสมาชิก กอช. เพิ่มมากขึ้น และ กอช. จะมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตลอดจนระบบเทคโนโลยีรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 นี้ กอช. มีแผนงานลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ กอช. เพิ่มเติมอีก 28 จังหวัด จัดอบรมเสมียนตราอำเภอทั่วประเทศในเดือนมีนาคม โดยเลขาธิการคณะกรรมการ กอช. จะเป็นผู้บรรยาย พร้อมตอบข้อซักถามเกี่ยวกับ กอช. และเพิ่มเป้าหมายตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้านอีกจำนวน 10,000 ราย พร้อมทั้งจะมีการมอบรางวัลแก่จังหวัดที่ส่งเสริมวินัยการออมดีเด่นด้วย

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ  กล่าวว่า  กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญ สำหรับแรงงานนอกระบบ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 เปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ระยะยาวให้กับประชาชนที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใด ๆ เพื่อไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา หรือ นอกจากผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว กอช. ยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ด้วยการออมตั้งแต่ 50 – 30,000 บาทต่อปี จะมีเงินบำนาญรายเดือนกับ กอช. ไว้ใช้ในยามเกษียณ นับเป็นการเริ่มต้นการส่งเสริมการออมให้ประชาชนคนไทยได้เงินบำนาญอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ

การเป็นสมาชิก กอช. จะช่วยให้ผู้เป็นสมาชิกมีแผนการออมแบบผูกพันระยะยาวให้กับตัวเองเมื่อยามเกษียณ โดยนอกจากเงินที่ออมสะสมเองแล้ว รัฐบาลจะช่วยจ่ายสมทบให้อีกส่วนหนึ่งเพื่อให้ฐานเงินออมของแต่ละคนเพิ่มสูงขึ้นและเมื่อรวมกับผลตอบประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนที่ กอช. นำเงินไปบริหารแล้ว จะช่วยให้ประชาชนมีเงินบำนาญรายเดือนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพเมื่อยามเกษียณ แต่ละคนจะมีเงินบำนาญมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับระยะเวลาการออมและจำนวนเงินการออม  การออมกับ กอช. มีข้อดีอีกประการคือ สมาชิกสามารถออมเมื่อพร้อม พร้อมเมื่อไรออมเมื่อนั้น สิทธิ์การเป็นสมาชิกยังคงเดิม

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย  ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน กอช. กล่าวว่า  กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการส่งเสริมการออมกับ กอช. ในระดับพื้นที่ เพื่อดำเนินงานเชิงรุกในการเพิ่มสมาชิก กอช. ในภูมิภาคที่เป็นแรงงานนอกระบบที่ยังไม่มีระบบการออมเพื่อการเกษียณ โดยส่งเสริมให้มีวินัยทางการเงิน เริ่มต้นด้วยการออมทรัพย์ เพื่อความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตยามเกษียณ ในโครงการส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. ในระดับพื้นที่

ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการจัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานในไตรมาสแรกเป็นประจำในทุกปี ก่อนที่จะดำเนินงานจัดกิจกรรมลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ กอช. ในแต่ละจังหวัดให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน อาทิ กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.)  หัวหน้าส่วนราชการในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจความรู้ทักษะทางการเงินให้เป็นไปตามภารกิจของ กอช. ในการส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนได้ตระหนักถึงการออมและการบริหารจัดการเงิน สร้างความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับ กอช. ในการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้องต่อไป

ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกในการดำเนินงานขับเคลื่อน โครงการส่งเสริมวินัยการออมกับ กอช. ในระดับพื้นที่ ในการกำกับดูแลของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ให้ความสำคัญของการออมกับ กอช. เพื่อให้แรงงานนอกระบบในแต่ละพื้นที่มีเงินบำนาญใช้ถ้วนหน้า ซึ่งการดำเนินงานในพื้นที่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมให้มีสมาชิก หมู่บ้านละ 20 คน ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมแรงงานนอกระบบให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. จำนวนกว่า 1.7 ล้านคน และในปีต่อมาจึงได้ดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมการออมกับ กอช.  มาโดยตลอด จึงจัดอันดับแก่จังหวัดที่ส่งเสริมวินัยการออมดีเด่นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย และจังหวัดที่ได้ผลการดำเนินงานสูงสุด โดยการมอบประกาศเกียรติคุณ 3 ลำดับ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดสุรินทร์

นอกจากนี้ในปี 2562 กรมการปกครอง ได้เล็งเห็นความสำคัญการออมกับ กอช. จึงให้ความร่วมมือโดยให้เสมียนตราอำเภอทั่วประเทศ เป็นหน่วยรับบริการ กอช. ในการสมัคร ส่งเงินออมสะสมต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้มีการส่งเสริมการออมในระดับพื้น โดยการเปิดรับตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ได้ที่เสมียนตราอำเภอ ซึ่งมีเป้าหมายการสร้างตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 74,000 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีผู้สมัครเป็นตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน กว่า 38,787 คน ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาการออมเงินกับ กอช. แก่ประชาชนในหมู่บ้าน ทั้งการรับสมัครสมาชิก ส่งเงินออมสะสม แจ้งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิก กอช.

และในปีต่อมาด้วยสถานการณ์โควิด 2019 ส่งผลให้การลงพื้นที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมให้ความรู้ได้ โดยเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ด้วยสถานการณ์นี้อาจทำให้ประชาชนขาดความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินที่น้อยลง 

Ffpปี 2566 นี้ จึงได้จัด “การประชุมมอบนโยบายบทบาทกองทุนการออมแห่งชาติ ในการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ประจำปี 2566” เพื่อทบทวนความเข้าใจข้อมูล กอช. และระบบงานเกี่ยวกับ กอช. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับเสาหลักของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 

สำหรับในปีนี้ กอช. ยังเปิดรับสมัครตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน เพิ่มขึ้นให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยผู้ที่มีคุณสมบัติในการสมัครต้องเป็นสมาชิก กอช. ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับรองการสมัคร สามารถสมัครได้ที่เสมียนตราอำเภอทั่วทั้งประเทศ เพื่อที่ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้านจะได้เป็นกระบอกเสียงให้คนในชุมชนของท่านได้มีเงินออมกับ กอช.  นอกจากนี้ที่ผ่านมา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนส่งเสริมการออมกับ กอช. ให้คนในชุมชนมาโดยตลอด ดังนั้นหากในชุมชนมีผู้ที่เป็นกระบอกเสียงให้คำปรึกษา สร้างความมั่นใจที่ถูกต้องคนในชุมชน พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา อาชีพรับจ้างทั่วไป รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่อายุ 15 – 60 ปี จะได้ตระหนักถึงการออมได้ตั้งแต่ต้น ยิ่งน้อง ๆ เยาวชนออมไว ยิ่งมีเงินออมมากในยามเกษียณหรืออนาคตข้างหน้าจะมีเงินใช้ที่พอเพียงและคุณภาพชีวิตที่สุขเกษม

ขณะที่ นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า  การออมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ต้องเก็บออมก่อนใช้จ่าย เมื่อเริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี จำนวน                13,200 บาทต่อปีเท่ากันทุก ๆ ปี ถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ พร้อมรับเงินสมทบตามช่วงอายุ ในตลอดทุกปีตามเกณฑ์ของ กอช. สูงสุด 1,200 บาทต่อปี จะมีเงินในบัญชีรวมประมาณกว่า 1.5 ล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ ได้รับเงินบำนาญรายเดือนละ 7,XXX บาท

โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 มติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการตามร่างประกาศกฎกระทรวง พ.ศ. … กำหนดอัตราจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ ถ้าสมาชิกเริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี จำนวน 30,000 บาท                  จะได้รับเงินสมทบ 1,800 บาทต่อปี ในเดือนถัดไปทุกปี ถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะมีเงินในบัญชีรวมประมาณกว่า                    3.4 ล้านบาท จะได้รับบำนาญรายเดือนละ 12,XXX บาท

ในปี 2566 นี้ กอช. จะดำเนินการขับเคลื่อนสร้างความรู้การวางแผนทางการเงิน และสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ใน 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด ให้กับหน่วยงานในแต่ละจังหวัดได้สร้างความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับ กอช. ในการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้องต่อไป

ปัจจุบัน กอช. ได้มีเครือข่ายอำนวยความสะดวกในการให้บริการสมาชิก ทั้งการสมัคร ส่งเงินออมต่อเนื่อง และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ กอช. ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ครอบคลุมทั่วประเทศ อาทิ  สำนักงานคลังจังหวัด เสมียนตราอำเภอ ได้มีการส่งเสริมการออมให้กับ กอช. ด้วยดีมาตลอด ส่งผลให้ประชาชนในพื้นได้รู้จัก และเข้าใจ กอช. เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีธนาคารของรัฐ 5 แห่ง อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา รวมกว่า 3,836 สาขา สถาบันการเงินชุมชน จำนวน 128 แห่ง ที่ว่าการอำเภอ ทั่วประเทศ 878 แห่ง  ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน 38,787 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2566) จาก 74,000 คน ที่ทำไปรษณีย์ไทย จำนวนกว่า 1,479 แห่ง เซเว่น-อีเลฟเว่น จำนวน 12,500 แห่ง เทสโก้โลตัส จำนวน 1,949 สาขา และตู้บุญเติมจำนวน 112,498 ตู้  อีกทั้ง กอช. ได้มีการออมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีให้สมาชิกให้ประชาชนเข้าถึงการออมง่ายยิ่งขึ้น  ด้วยความสะดวกสบายได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟน อาทิ แอปพลิเคชัน กอช., ไลน์ กอช., แอป K PLUS, แอป Krungthai NEXT และแอป Mymo GSB

ทั้งนี้ กอช. ได้มีช่องทางหน่วยรับบริการที่หลากหลายในการอำนวยความสะดวก ให้สมาชิกครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ และกอช. ได้มีการจัดพิมพ์สมุดเงินออม กอช. ให้สมาชิก ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกในการออม โดยรับได้ที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วนเงินออม โทร. 02-049-9000.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password