คลังเผยเร่งสอบคุณสมบัติผู้ถือบัตรสวัสดิการพ่วงครอบครัว 44 ล.ราย – ชี้! ‘ช้อปดีมีคืน’ ดันจีดีพีโต 0.16%
โฆษกคลังแจงความคืบหน้าการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เผย! ได้รับผลตรวจสอบคุณสมบัติจากหน่วยตรวจสอบฯ 46 แห่ง และอยู่ระหว่างประมวลผลคุณสมบัติผู้ลงทะเบียน 19.63 ล้านราย รวมข้อมูลคู่สมรสและลูกอีก 24.88 ล้านราย ส่วนโครงการช้อปดีมีคืน ระบุ สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท ดันจีพีดีโต 0.16%
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการลงทะเบียนฯ) ปี 2565 ว่า กระทรวงการคลังได้รับผลการตรวจสอบคุณสมบัติจากหน่วยตรวจสอบคุณสมบัติจำนวน 46 แห่ง อาทิ กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)ต่าง ๆ เป็นต้น เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประมวลผลที่ได้รับจากหน่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนกว่า 19.63 ล้านราย และข้อมูลคู่สมรสและบุตรอีกกว่า 24.88 ล้านราย รวมทั้งสิ้นกว่า 44.51 ล้านราย
ทั้งนี้ การประมวลผลการตรวจสอบคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 มีความครอบคลุมและมีการตรวจสอบที่ละเอียดกว่าโครงการลงทะเบียนฯ ในอดีต เนื่องจากมีการใช้เกณฑ์ครอบครัวเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมจากเดิมที่พิจารณาเฉพาะเกณฑ์บุคคล โดยครอบครัว หมายถึง ผู้ลงทะเบียน คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส และบุตรที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ อีกทั้งในครั้งนี้มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติสำหรับเกณฑ์บุคคล ได้แก่ การมีบัตรเครดิต และภาระหนี้สินของผู้ลงทะเบียน ซึ่งการพิจารณาการตรวจสอบสิทธิของผู้ลงทะเบียนในครั้งนี้จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ตามเกณฑ์บุคคลก่อน หากผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์บุคคลแล้ว จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสและบุตรที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ (หากมี) ตามเกณฑ์ครอบครัวในขั้นตอนต่อไป
หากพบว่า ผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์ครอบครัวจะถือว่าผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านคุณสมบัติและผู้ลงทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิตามโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 มีการพัฒนาเกณฑ์การคัดกรองเพื่อให้ระบุตัวตนผู้มีรายได้น้อยได้แม่นยำมากขึ้น โดยเป็นการปรับปรุงฐานข้อมูลผู้มีสิทธิใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ มีการดำเนินการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2559 ตามดำริของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปฏิรูปการดำเนินนโยบายการจัดสรรสวัสดิการของประเทศไทย โดยในปี 2559 มีผู้ได้รับสุทธิประมาณ 7.7 ล้านราย และต่อมาในปี 2560 และปี 2561 ได้มีการลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนฯ รอบใหม่อีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับประสิทธิภาพการจัดสวัสดิการสังคมและการให้เงินช่วยเหลือของภาครัฐให้สามารถระบุตัวตนของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริงผ่านการบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงาน และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐให้กับผู้มีรายได้น้อยที่สมควรจะได้รับประโยชน์จากรัฐอย่างแท้จริงอันนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนในสังคมไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
ซึ่งการดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2560 และปี 2561 ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนฯ ไว้เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 14.6 ล้านรายในช่วงเริ่มต้น และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปัจจุบันมีจำนวน 13.22 ล้านราย ซึ่งในปี 2565 งบประมาณการที่ได้รับสำหรับสวัสดิการให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ การใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน เข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากโดยตรงอีกทางเพราะผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และแก๊สหุงต้มกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ร้านประชารัฐของกองทุนหมู่บ้าน ร้านถุงเงินประชารัฐ และร้านก๊าซหุงต้มชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนจึงถือเป็นการกระจายเข้าสู่ร้านค้าชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก
สำหรับ การประกาศผลโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 นี้คาดว่า จะสามารถประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 ซึ่งกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเตรียมการสำหรับการประกาศผลดังกล่าว โดยช่องทางที่จะตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติได้ 3 ช่องทาง ดังนี้
1. ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th
2. ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) สำนักงานคลังจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการเมืองพัทยา
3. โทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ Call Center โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
“หลังจากการวันประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 จะต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ณ ธนาคารตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ เป็นต้นไป จึงจะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) ได้ อีกทั้งผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้เพื่อรับสิทธิสวัสดิการอื่น ๆ ในอนาคต สำหรับวันเริ่มใช้สิทธิจะมีการประกาศเป็นทางการอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบันที่ใช้สิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันสุดท้ายของเดือนก่อนเริ่มใช้สิทธิของโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ซึ่งผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) เท่านั้น” โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำและว่า
สำหรับสวัสดิการของผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการฯ ปี 2565 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีโดยสวัสดิการหลักต่าง ๆ รัฐบาลยังคงคำนึงถึงสวัสดิการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้มีรายได้น้อย เช่น ค่าอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ลงทะเบียนที่ตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 แล้วพบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ผู้ลงทะเบียนสามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์ได้ตามช่องทางและวันที่กระทรวงการคลังจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารหรือความคืบหน้าต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการลงทะเบียนฯ ปี 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการช้อปดีมีคืนซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้รับกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่า ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นไปตามเป้าที่กำหนดที่คาดไว้โดยจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งคาดว่า จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับไม่มีโครงการดังกล่าว.