สมอ. ย้ำ นำเข้า “ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร” ต้องยื่นขอ มอก.

สมอ. ระดมทีมเจ้าหน้าที่ติวเข้มผู้ทำผู้นำเข้าภาชนะพลาสติกสำหรับอาหาร กว่า 800 ราย เตรียมความพร้อมยื่นขอใบอนุญาต มอก. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร มอก.655 และภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ มอก.2493

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการขอรับใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร มอก.655 เล่ม 1-3 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ มอก.2493 เล่ม 1–2” ว่า ตามที่ สมอ. ประกาศให้ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากภาชนะพลาสติกที่สัมผัสอาหารโดยตรงมีความเสี่ยงที่จะมีสารเคมี หรือสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนลงสู่อาหารได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป สมอ. จึงเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ทำ ผู้นำเข้า เข้าร่วมการสัมมนา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐานและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานดังกล่าว ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้การสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าจากทั่วประเทศเข้าร่วมการสัมมนาทั้ง Onsite และ Online กว่า 800 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการทุกราย จะต้องได้รับใบอนุญาต มอก. จาก สมอ. และจะต้องทำและนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีทำหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และสำหรับผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายเฉพาะภาชนะพลาสติกที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาต มอก. ผ่านระบบ e-License ได้ที่ www.tisi.go.th ตลอด 24 ชม. สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ

โดยในปีนี้ สมอ. ได้พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งระบบ e-License , e-Surveillance , e-Accreditation และ National Single Window หรือ NSW เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารผ่านระบบ e-License แล้ว จำนวน 42 ราย เป็นผู้ทำจำนวน 31 ราย และผู้นำเข้าจำนวน 11 ราย ซึ่ง สมอ. คาดหวังว่าผู้ประกอบการทุกรายจะทยอยยื่นขอใบอนุญาต มอก. จนครบ ก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้าที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน มอก. โดยก่อนซื้อสินค้าทุกครั้งขอให้สังเกตเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. คู่กับ QR Code ที่ตัวสินค้าซึ่งจะระบุรายละเอียดชื่อสถานประกอบการ ชื่อผู้ทำ หรือผู้นำเข้า เลขทะเบียนนิติบุคคล เลขที่ใบอนุญาต แบบ รุ่น ขนาด หรือโมเดลของสินค้าที่ได้รับใบอนุญาต ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าได้ง่ายๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้งเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password