หอฯค้าไทย-จีนหวั่นปมน้ำมันแพงดันเงินเฟ้อพุ่ง เตรียมเยือนหวังลดขาดดุลการค้าจีน

หอการค้าไทย-จีน เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของ “325 ผู้ประกอบการ” ในไทย ชี้! ส่วนใหญ่ยังพอใจและเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะคลี่คลายขึ้น โดยมีการท่องเที่ยวและสินค้าเกษตรเป็นแกนผลักดันสำคัญ ยอมรับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อราคาน้ำมันโลก ฉุดต้นทุนสินค้าพุ่ง ดันเงินเฟ้อขยับ ฉุดค่าเงินบาทลดลง ด้าน “ณรงค์ศักดิ์ พุทธมงคล” วางแผนนำคณะฯเยือนจีน หลังปักกิ่งเตรียมเปิดประเทศ พ่วงเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากขึ้น หวังปูทางดึงทุนจีนเข้าลงทุนในอีอีซี พร้อมเจรจา ก.คลัง ปิดจุดอ่อนทุกด้าน มั่นใจลดปมขาดดุลการค้าจากจีนไม่ต่ำกว่า 0.5% คาดนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาไตรมาสแรกของปีหน้า

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 หอการค้าไทย-จีน ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน รวมถึงประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน จำนวน  325 คน  ระหว่างวันที่ 16 ถึง 24 มิถุนายน 2565  เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565  

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน แถลงว่า ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน จากเหตุดังกล่าวจึงมีการสำรวจปัจจัยที่มีความกังวลที่เกิดมาจากสถานการณ์ในต่างประเทศ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความกังวลมากสุดใน 2 ลำดับแรก ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ที่สร้างความกังวลกับผู้ให้ข้อมูลเป็นอย่างมาก คิดเป็นร้อยละ 76 และ 68 ตามลำดับ ในขณะที่ความกังวลในลำดับรองลงมาคือ ราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและความผันผวนของตลาดการเงิน คิดเป็นร้อยละ 38 และ 29 ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน พบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มีความกังวลอยู่บ้างแต่ใช้ชีวิตที่ผ่อนคลายมากขึ้น ที่ร้อยละ 65 และอีกส่วนหนึ่งมีความกังวลพอควรและใช้ชีวิตระวังเช่นเดิม ที่ร้อยละ 20) โดยมีผู้ให้ข้อมูลบางส่วนได้หมดความกังวลแล้ว ที่ร้อยละ 11 อย่างไรก็ดี สถานการณ์คลี่คลายความกังวลจากโควิดเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

จากการ ปรับตัวของราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 2 นั้น ผู้ให้ข้อมูล ได้แบ่งปันประสบการณ์ผลกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจ และพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ให้ข้อมูลที่สำรวจมีต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 10 ถึง 20  และร้อยละ 31 ของผู้ให้ข้อมูลมีต้นทุนเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 20 ถึง 40 และร้อยละ 12 ของผู้ให้ข้อมูลมีต้นทุนเพิ่มมากกว่าร้อยละ 40 จากประเด็นดังกล่าว จึงมีคำถามต่อเนื่องหากใน3 เดือนข้างหน้าราคาน้ำมันและวัตถุดิบยังคงเดิมเช่นวันนี้จะมีการปรับราคาสินค้าหรือไม่ พบว่าร้อยละ 51 ของผู้ให้ข้อมูลจะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 25 ของผู้ให้ข้อมูลต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นให้เท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังที่ผ่านมา และมีเพียงร้อยละ 14 ยังรอการปรับราคาได้ แนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณว่าปัญหาทางด้านเงินเฟ้อคงยังไม่ชะลอตัวลง

เมื่อได้สอบถาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีน กล่าวคือในระยะที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 60 คาดว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะต้องใช้เวลามากกว่าอีก 6 เดือนจากวันนี้ ขณะที่ร้อยละ 34.5 คาดว่าต้องใช้เวลาระหว่าง 3-6 เดือน จากนโยบายปลอดโควิดของจีนนั้น ที่ทำให้เกิดการปิดเมืองชั่วคราว ผู้ให้ข้อมูลให้ข้อคิดเห็นว่านโยบายดังกล่าว มีผลต่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศจีน โดยที่ร้อยละ 48 ของผู้ให้ข้อมูลระบุว่ามีผลกระทบเป็นอย่างมาก และร้อยละ 31 มีผลกระทบพอประมาณ จากสถานการณ์ภายในประเทศจีนต่อการเดินทางไปต่างประเทศ ร้อยละ 44 ของผู้ให้ข้อมูลคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเยือนประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี 2566 ในขณะที่ร้อยละ 16 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมายืนเมืองไทยก่อนสิ้นปี 2565 ส่วนผู้ให้ข้อมูลที่เหลือคาดว่าต้องรอจนหลังไตรมาสที่สองของปี 2566 ที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ในเรื่องของการท่องเที่ยวอีกเช่นกัน จากนโยบายผ่อนปรนจนกระทั่งไม่มีการตรวจโควิดกับนักท่องเที่ยวก่อนเข้าประเทศ ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 55 คาดว่าต้องใช้เวลาระหว่าง 3-6 เดือน การท่องเที่ยวจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่งอย่างเต็มที่ ขณะที่ร้อยละ 36.8 คาดว่าต้องใช้เวลามากกว่าอีก 6 เดือน ทั้งนี้ ตนได้รับข้อมูลสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา กล่าวคือ ทางการจีนได้ปรับลดจำนวนวันในการกักตัวจากเดิม 14 + 7 วัน เหลือเพียง 7+3 วัน รวมถึงเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างจีนและไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีนจะสูงขึ้น แต่จำนวนผู้เดินทางในลักษณะกลุ่มใหญ่จะหายไป รวมถึงทัวร์ศูนย์เหรียญที่จะหมดไปด้วย

นายณรงค์ศักดิ์  กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 29 คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 3 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในขณะที่ร้อยละ 43 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรงๆ ส่วนร้อยละ 22 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันกล่าวคือ ร้อยละ 54 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 27 ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน การคาดคะเนการนำเข้านั้น ร้อยละ 58 คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 23 การนำเข้าจะทรงตัว ส่วนผลของการสอบถามความคิดเห็น

ด้าน การลงทุนของจีนในไทย พบว่า ร้อยละ 56 ของผู้ให้ข้อมูลคิดว่าการลงทุนจากจีนในไทยในไตรมาสที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 จะเพิ่มขึ้นในขณะที่ร้อยละ 28 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการลงทุนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน กล่าวโดยสรุปได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างในอีกสามเดือนหน้า และน่าจะมีผลที่ดีกับประเทศไทยในเรื่องการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ

“หอการค้าไทย-จีน จะทำหนังสือสรุปประเด็นปัญหาและความต้องการของนักลงทุนจีนที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนในโครงการอีอีซี เบื้องต้นได้หารือกับกระทรวงการคลัง ผ่านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังไปบ้าง คาดว่าหนังสือดังกล่าวจะแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาในไตรมาส 3 ของปีนี้ เชื่อว่าข้อสรุปข้างต้น จะส่งผลดีต่อการดึงนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยอย่างมาก ซึ่งมีหลายธุรกิจที่นักลงทุนจีนสนใจจะเข้ามาลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผลิตรถไฟฟ้า โลจิสติกส์ และสินค้าทางการเกษตรเพื่อการส่งออก ส่วนตัวเชื่อว่าในอาเซียน มีเพียงเวียดนามที่เป็นคู่แข่งของไทย โดยที่ไทยถือเป็นประเทศที่นักลงทุนจีนสนใจจะเข้ามาลงทุนมากที่สุด” นายณรงค์ศักดิ์ ย้ำ

การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่าร้อยละ 52 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 25 จะทรงๆ ขณะที่ร้อยละ 20 ไตรมาสที่ 3 จะชะลอตัวลงอีก ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ และธุรกิจออนไลน์ ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร  และพลังงานและสาธารณูปโภค และจากการสอบถามเพิ่มเติมในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พบว่า เป็นอุตสาหกรรมเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สำคัญและจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หากได้รับการแก้ไขอุปสรรคอย่างรวดเร็ว

“ในขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและพืชผลทางการเกษตรจะเป็นสิ่งที่ผู้ให้ข้อมูลจะรู้สึกเป็นห่วง แต่ขณะเดียวกัน ก็มองว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้ ยังคงเป็นโอกาสที่หากภาครัฐดำเนินนโยบายและมีมาตรการที่สามารถจะแก้ไขในประเด็นที่เป็นข้อวิตกได้แล้ว เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีนี้ดีขึ้น”  ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน ระบุ

พร้อมกันนี้ ตนและกรรมการหอการค้าไทย-จีน มีแผนจะเดินทางไปเยือนประเทศจีน หลังจากมีแนวโน้มที่ทางการจีนจะเปิดประเทศมากขึ้น โดยเป้าหมายที่จะ เชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้กับสินค้าไทยในการส่งออกไปจีน เพื่อหวังจะลดปัญหาการขาดดุลการที่นับวันจะห่างเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยหวังจะลดการขาดดุลการค้าให้ได้สัก 0.5% ส่วนประเด็นที่ ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ชาวไทยประสบปัญหาจากผู้ขายชาวจีนที่ส่งสินค้าไม่ตรงปกมาให้นั้น ตนขอรับไว้เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่จะต้องหารือร่วมกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากผู้ผลิตและผู้ขายในจีนมีมาก ดังนั้น จำเป็นที่ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ชาวไทยจะต้องระมัดระวังในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากจีน เพราะแม้ส่วนใหญ่จะซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง ลาซาด้า หรือช้อปปี้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับสินค้าคุณภาพ เบื้องต้น ขอแนะนำให้ผู้ซื้อเลือกสินค้าจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ อย่ามองเพียงแค่ราคาถูก โดยจะต้องพิจารณาจากการรีวิวและการให้คะแนนหรือดาวกับสินค้าจากร้านค้านั้นๆ รวมถึงตรวจสอบดูว่าร้านค้านั้นการมีสต๊อกสินค้าในเมืองไทยหรือไม่ มีจำนวนเท่าใด สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อความน่าเชื่อถือว่าจะได้สินค้ามีคุณภาพตรงตามปกที่โฆษณาเอาไว้

ส่วนการคาดการณ์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 51 คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวลดลง ร้อยละ 22 คาดว่าคงเดิม ร้อยละ 23 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสหน้านั้น เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 57 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และอีกร้อยละ 17 คิดว่าถ้าเงินบาทจะอ่อนตัวลงเป็นอย่างมาก

“กล่าวโดยสรุปผลการสำรวจในครั้งนี้ สิ่งภาคเอกชนต้องติดตามคือ สถานการณ์ความขัดแย้งของมหาอำนาจที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง มีผลทำให้การนำเข้าพลังงานมีต้นทุนสูงขึ้นมาก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่จะได้ประโยชน์จากการที่บาทอ่อน ยังไม่สามารถหวังผลได้เต็มที่ จะกดดันให้เงินเฟ้อค่อยๆ สูงขึ้น โดยภาคเอกชนก็ยังมีความกังวลใจกับการปรับราคาขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว และว่า ถึงตอนนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ผลิต หลังจากต้นทุนการผลิตและขนส่ง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ตนยังคาดหวังว่าการปรับเพิ่มราคาสินค้าจะสอดรับกับต้นทุนการผลิตฯที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ส่วนการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้น เชื่อว่าภาครัฐคงจะพิจารณาในเร็วๆ นี้ เพื่อให้สอดรับสถานการณ์ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ด้าน รศ. ดร.ชโยดม สรรพศรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การจัดทำผลสำรวจความเห็นข้างต้นตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น ตนยืนยันในเชิงวิชาการได้ว่า ทุกความเห็นที่ได้รับมานั้น มาจากผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์สูงและผู้บริหารระดับสูงของแต่ละกิจการ อีกทั้งยังเป็นการสอบถามในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 3 เดือนนับจากนี้ จึงทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับข้อเท็จจริงและตรงกับสถานการณ์จริงมากพอจะนำไปฐานข้อมูลเพื่อพิจารณาตัดสินใจในการดำเนินงาน และวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้าได้เป็นอย่างดี.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password