‘พาณิชย์’ ลุย! หารือ ก.เกษตรแอฟริกาใต้ จัดกิจกรรมโปรโมทสินค้าไทย หวังกระตุ้นนำเข้า

“ผู้ช่วยฯวรวงศ์” นำทีมกระทรวงพาณิชย์ คุยตัวแทนรัฐบาลแอฟริกาใต้ ตลาดส่งออกสินค้าไทยอันดับที่ 1 ในทวีปแอฟริกา เผย! สนใจนำเข้ามังคุดและลำไย ฝั่งไทยฝากเพิ่มมะม่วง แลกนำเข้าแอปเปิ้ลและผลไม้อื่น พร้อมผนึกกระทรวงเกษตรฯ จัดประชุมมาตรฐานสินค้าส่งออกสู่แอฟริกาใต้ในไทย พ.ย.นี้ เชื่อสินค้าไทยไปได้สวย หลังชาวแอฟริกันแห่ร่วมงานส่งเสริมการขายสินค้าไทยที่ห้าง Food Lover’s Market ใหญ่สุดในประเทศ

นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ตนพร้อมด้วย นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และ นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้พบหารือกับ น.ส.โรสแมรี่ โนคูโซลา คาปา รมช.เกษตร ป่าไม้ และการประมง สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยมี การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ประสบการณ์ทางด้านการค้า การลงทุน การขนส่ง และคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะ สินค้าข้าวที่แอฟริกาใต้นำเข้าจากไทยมากกว่าร้อยละ 90 และ สินค้าปศุสัตว์ เช่น เนื้อวัวและนกกระจอกเทศ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้นของแอฟริกาใต้

“สำหรับสินค้าผลไม้ แอฟริกาใต้ ได้เริ่มส่งออกแอปเปิ้ลมายังไทย และมีแผนจะส่งเสริมการส่งออกผลไม้ชนิดอื่นด้วย ขณะเดียวกันแอฟริกาใต้มีความต้องการนำเข้ามังคุดและลำไยจากไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้แอฟริกาใต้สนับสนุนนำเข้ามะม่วงจากไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยโดย กระทรวงพาณิชย์ ยังยินดีที่จะทำงานร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างใกล้ชิด สำหรับการเป็น เจ้าภาพจัดประชุมเกี่ยวกับสินค้าเกษตรของแอฟริกาใต้ในช่วง พ.ย. 2568 เพื่อให้สินค้าเกษตรส่งออกของไทยเป็นตามมาตรฐานของแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ รมช.เกษตรฯ ของแอฟริกาใต้ ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยที่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้อีกด้วย” นายวรวงศ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า…

เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าไทย และกระตุ้นให้มีการบริโภคสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ตนจึงได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตฟู้ดเลิฟเวอร์มาร์เก็ต (Food Lover’s Market) สาขา Castle Gate กรุงพริทอเรีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และได้โชว์ฝีมือทำต้มยำกุ้ง เสิร์ฟด้วยข้าวหอมมะลิไทย ให้ผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ได้ลิ้มลอง พร้อมร่วม จัดกิจกรรมแจกชิมอาหารไทย อาทิ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย มัสมั่นไก่ ข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งร่วมแจกสินค้าอาหารไทย อาทิ ข้าวหอมมะลิไทย เครื่องปรุงรส ซอส อาหารกระป๋อง

ทั้งนี้ กิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยที่ Food Lover’s Market จัดโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ กรมการค้าต่างประเทศ โดยมีกำหนด จัดกิจกรรม 6 ครั้ง กับ 6 สาขา ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2568 โดยที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4

สำหรับ Food Lover’s Market เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในแอฟริกาใต้ เปิดให้บริการมากว่า 30 ปี และมีจำนวน 120 สาขาในแอฟริกาใต้ (บอตสวานาจำนวน 2 สาขา ซิมบับเวจำนวน 4 สาขา และนามิเบียจำนวน 4 สาขา) มีสินค้าไทยที่วางจำหน่าย เช่น ข้าวนึ่ง ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไทย ปลากระป๋อง กะทิกระป๋อง เครื่องแกง/เครื่องปรุงรส ซอส เส้นหมี่ ขิงดอง ทั้งนี้ Food Lover’s Market เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต (mass market หรือ mainstream) ที่มีสินค้าไทยวางจำหน่ายมากที่สุดในแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ สินค้าไทยยังมีวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกเอเชีย (niche market) ซึ่งมีสินค้าไทยหลากหลายรายการกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต mainstream

ส่วน การค้าไทย-แอฟริกาใต้ ในปี 2567 แอฟริกาใต้เป็นตลาดส่งออกสำคัญ อันดับที่ 23 ของไทย และเป็นตลาดส่งออกสำคัญ อันดับที่ 1 ในทวีปแอฟริกา (คิดเป็นร้อยละ 44.14 ของมูลค่าส่งออกไทยไปยังทวีปแอฟริกา รองลงมาคือ อียิปต์ เซเนลกัล ลิเบีย ตามลำดับ) โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศแอฟริกาใต้ มูลค่า 3,065.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 33.63 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปแอฟริกาใต้) (2) ข้าว (ร้อยละ 15.59) (3) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (ร้อยละ 12.22) (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (ร้อยละ 5.89) และ (5) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 4.49) ตามลำดับ อนึ่ง ปี 2567 ไทยได้ดุลการค้าประเทศแอฟริกาใต้ มูลค่า 2,462.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ.





