‘พาณิชย์’ ยกทีม ‘อัพเศรษฐกิจชุมชน’ สู่ ‘เศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม’ เน้นสร้างเอกลักษณ์สินค้า/บริการเฉพาะแต่ละพื้นที่

“อธิบดีฯอรมน” นำทัพ “ผู้บริหารกรมพัฒนาธุรกิจฯ” ลงพื้นที่สระบุรี-โคราช เดินหน้ายกระดับการค้าท้องถิ่น รับโลกเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มุ่งหารูปแบบใหม่สอดรับบริบทการค้าของไทยและของโลก เน้นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง มีต้นทุนที่ต่ำ สร้างสินค้า/บริการมูลค่าสูง ผ่านการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สู่เศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21 – 23 มี.ค.2568 ได้นำ คณะผู้บริหารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงพื้นที่ จ.สระบุรี และ จ.นครราชสีมา พบปะผู้ประกอบการชุมชนสาขาต่างๆ เช่น ธุรกิจ ESG ธุรกิจ Wellness ธุรกิจร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นธุรกิจเป้าหมายที่กรมฯ ให้การสนับสนุนส่งเสริม และมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ผู้ประกอบการชุมชน เป็นแนวทางการบริหารงานภาครัฐที่ กระทรวงพาณิชย์ โดย รมว.พาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และ รมช.พาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) มอบนโยบายให้กรมฯเร่งสร้างความเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้ประกอบการท้องถิ่นในทุกมิติ โดยใช้กระบวนการประชาคมแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อได้มาซึ่งปัญหาและความต้องการจากภาคธุรกิจแต่ละพื้นที่ ผ่านกลไกการจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาประเทศ มีความสอดคล้องในทุกระดับ เพื่อให้เหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถเติบโตในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป แต่ต้องมองหาการเติบโตรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทการค้าโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาการเติบโตและปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่จะเป็นการเติบโตแบบยั่งยืนและมีฐานทางธุรกิจที่กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะ การเติบโตของเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งปัจจุบันประชากรมากกว่า 70% อยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งธุรกิจมีการกระจายตัวอยู่นอกพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยเช่นกัน การผลักดันให้เศรษฐกิจชุมชนมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและก้าวสู่เศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมระดับประเทศ
ทั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นสินค้าและบริการแต่ละพื้นที่ให้มีความแตกต่าง รวมถึงต้องแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่สินค้าและบริการมีมูลค่าสูง เช่น * การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคตรงตามความต้องการของตลาด * ใช้ช่องทางออนไลน์เชื่อมโยงตลาด * สร้างโครงข่ายพันธมิตรเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อและช่วยเหลือเกื้อกูล * กระตุ้นและสร้างเศรษฐกิจเมืองรองให้มีความเข้มแข็งทัดเทียมเมืองหลักไม่เกิดการกระจุกตัวของเศรษฐกิจ และ * ภาครัฐต้องมีระบบการติดตามเพื่อสำรวจและคำนวณความสามารถทางการแข่งขันของแต่ละท้องถิ่น ผ่านความเห็น/ข้อเสนอแนะของนักลงทุนและภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตอย่างมีทิศทาง และพร้อมผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

เป้าหมายหลักของการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สู่การเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศจากมุ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเมือง และพึ่งพาการลงทุนจากชาวต่างชาติเป็นหลัก เป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมที่มีความเป็นสากล ใช้เศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมขับเคลื่อนบริบทเศรษฐกิจประเทศ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้ท้องถิ่นเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่การเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น เพราะความมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดแนวคิด ความคิดเห็น และรูปแบบการพัฒนาที่สามารถยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งอย่างมีทิศทาง เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้มีความแข็งแกร่ง
กรมฯ ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเพื่อให้สอดรับกับการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) สร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยี 2) พัฒนาสู่มาตรฐานการบริหารจัดการที่ดีเทียบเท่าระดับสากล และ 3) สร้างโอกาสทางการตลาดและขยายเครือข่ายทางธุรกิจ โดยปี 2568 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 15,000 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,100ล้านบาท กำหนดธุรกิจเป้าหมายและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจ SME ของไทยที่สำคัญ เช่น
1. สร้างโอกาสทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568) มีธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย 663 กิจการ (80,866 สาขา) ในจำนวนนี้ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ 545 กิจการ (60,689 สาขา)โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ 1.1) พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ (Franchise B2B) 1.2) ยกระดับสู่เกณฑ์มาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ 1.3) จัดประกวด Thailand Franchise Award 20251.4) นำผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ และ 1.5 พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล (Thai Franchise Towards Global) เป้าหมายรวม 750 ราย
2. สร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย ปัจจุบัน มีธุรกิจโลจิสติกส์ 35,668 ราย ในจำนวนนี้ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ 14,577 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ 1,051 ราย โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ 2.1) พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ เน้น * การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเงื่อนไขการส่งมอบ (Incoterm) เพื่อให้ดำเนินการผ่านพิธีศุลกากรได้อย่างถูกต้อง * Generation AI สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน * การใช้ข้อมูลในองค์กรมาทำรายงานอัจฉริยะด้วยโปรแกรม MS Power BI : Data Anlytic With MS Power BI เป็นต้น 2.2) ยกระดับมาตรฐานผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ด้วย ISO 9001 เน้น * การพัฒนาและประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 9001 ยุค Grow Green Logistics * การให้คำปรึกษาเชิงลึกแนะนำการวางระบบตามแนวทางมาตรฐาน ISO 9001 เป้าหมายรวม 600 ราย
3. ส่งเสริมร้านอาหารไทยให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในประเทศไทย 496 ร้าน อยู่ในภาคกลาง 189 ร้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 87 ร้าน ภาคเหนือ 96 ร้าน ภาคใต้ 87 ร้าน และภาคตะวันออก 37 ร้าน ในจำนวนนี้มีร้านอาหาร Thai SELECT ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 82 ร้าน เชียงใหม่/พระนครศรีอยุธยา 20 ร้าน กระบี่/นนทบุรี 16 ร้าน ภูเก็ต 12 ร้าน และ ขอนแก่น/ชลบุรี 11 ร้าน โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ 3.1) ปรับภาพลักษณ์ (ReBranding) ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT โดยจะปรับตราสัญลักษณ์ เป็นดาวเกียรติยศ Thai SELECT 3.2) สร้างโอกาสทางการตลาดและส่งเสริมตลาดเชิงรุกในยุคดิจิทัล/การตลาดตามแนวคิด BCG การใช้อัตลักษณ์ท้องถิ่น หรือ GI กระตุ้นยอดขาย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และสร้างการรับรู้ Soft Power อาหารไทย ร้านอาหารไทย เป้าหมายรวม 300 ราย

4. ส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยได้ดำเนินงาน 4.1) เสริมสร้างองค์ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ เพิ่มศักยภาพทางการค้าด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล โดยอบรมเชิงลึกด้านบริหารจัดการธุรกิจ 4.2 เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย สมาพันธ์สมาคม สปาแอนด์เวลเนสไทย และสมาคมด้านการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบธุรกิจสุขภาพ (Wellness) โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ * จัด Workshop ในหลักสูตรพลิกเกมธุรกิจ Wellness ให้ปังด้วยพลังดิจิทัลและเครือข่ายธุรกิจจำนวน 3 ครั้ง กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ต * อบรมและให้คำปรึกษาเชิงลึกการจัดทำแผนธุรกิจตามแนวคิด BCG * นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานนำเสนอและเจรจาจับคู่ธุรกิจ ภายในงาน Thailand Wellness & Healthcare Expo 2025 เป้าหมายรวม 200 ราย
5.ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก (โชห่วย) ปัจจุบันมีนิติบุคคลธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 22,935 ราย (DBD DataWarehouse+) กรมฯ ได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ดังนี้ 5.1) พัฒนาห้างท้องถิ่นต้นแบบ 340 ร้าน 5.2) พัฒนาสมาร์ทโชห่วย 7,625 ร้าน แบ่งเป็น นำระบบ POS มาใช้ 993 ร้าน และปรับภาพลักษณ์ร้านค้า 6,632 ร้าน 5.3) เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ 21,015 ราย และเชื่อมโยงเครือข่ายกับซัพพลายเออร์ ห้างท้องถิ่น ผู้ให้บริการเทคโนโลยี/ระบบ POS สินค้าชุมชน สถาบันการเงิน และบริการเสริมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น
โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ * พัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อยเป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ประกอบด้วย – เสริมสร้างองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการให้แก่ร้านค้าโชห่วย รวมถึง ร้านค้าปลีกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ด เครื่องเขียน อุปกรณ์เบเกอรี อุปกรณ์ก่อสร้าง และอุปกรณ์การเกษตร โดยเน้นการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (เป้าหมาย 2,700 ราย) – พัฒนาสมาร์ทโชห่วย โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทีมงานพี่เลี้ยงโชห่วยดำเนินการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า (เป้าหมาย 150 ร้าน) และ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ (เป้าหมาย 150 ร้าน) * พัฒนายกระดับคุณภาพการบริหารจัดการเป็น ‘ห้างท้องถิ่นต้นแบบ’ และส่งเสริมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (เป้าหมาย 30 ร้าน)

6. ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการ 6.1) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการภายใต้หลักสูตรต่างๆ เช่น ปั้นร้านค้าออนไลน์ขั้นเทพ (OMG) Smart Trader Online, เรียนรู้เส้นทางการเป็น Influencer รวม 41,945 ราย (ปี 2562 – 2567) 6.2) ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อเสริมทักษะ และสร้างโอกาสทางการตลาด อาทิ SHOPEE, LAZADA, TIKTOK และ META (ปี 2562- 2567) 6.3) พัฒนาชุมชนออนไลน์ต้นแบบ (Digital Village by DBD) 96 ชุมชน 55 จังหวัด (ปี 2562- 2567) และ 6.4) สร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้าออนไลน์ ด้วยการรับรองและยืนยันตัวตนผ่านเครื่องหมาย DBD Registered 120,606 เว็บไซต์ (ปี 2546 – ก.พ.2568) DBD Verified 223 เว็บไซต์ (ปี 2556 – ก.พ.2568)
โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ * จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อส่งเสริม SME ด้าน Digital Marketing เป้าหมาย 5,950 ราย * พัฒนาชุมชนออนไลน์ต้นแบบ Digital Villageชุมชนสร้างสรรค์สู่การแข่งขันการค้าออนไลน์ เป้าหมาย 20 ชุมชน 4 ภูมิภาค * พัฒนาระบบบริหารข้อมูลผู้ประกอบการออนไลน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน Digital Ecosystem 1 ระบบ
7. เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรภาคเอกชนทางธุรกิจ
7.1 MOC Biz Club ปัจจุบันมีสมาชิก MOC Biz Club 14,808 ราย โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ 7.1.1 พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เช่น ส่งเสริมการวางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ การเจรจาธุรกิจ การนำเสนอธุรกิจ 7.1.2 เปิดร้าน Biz SHOP จำนวน 10 ร้าน 10 จังหวัด และขยายให้ครบ 77 จังหวัดภายในปี 2570 ปัจจุบันมีร้าน Biz SHOP 13 ร้าน 12 จังหวัด 7.1.3 จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า Biz Club Fair 3 ครั้งคือ นนทบุรี ปทุมธานี และ ชลบุรี 7.4 เจรจาจับคู่ธุรกิจ นอกจากนี้ ได้จัดหาจุดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ (Biz Shop) โดยบูรณาการร่วมกับคู่ค้าพันธมิตร อาทิ ร้านขายของฝากประจำจังหวัด กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีก กลุ่มธุรกิจโรงแรม กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ กลุ่มธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์ ในพื้นที่จังหวัด รวมถึงจัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัด อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ศาลากลางจังหวัด สถานที่ของหน่วยงานราชการ หรือเอกชน เป็นต้น

7.2 สมาคมการค้า กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริหาร / เจ้าหน้าที่สมาคมการค้า และธุรกิจที่เป็นสมาชิกสมาคมการค้า กรมฯ จะดำเนินการควบคู่กับการกำกับดูแลสมาคมการค้าให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สมาคมการค้า พ.ศ.2509 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้แก่สมาคมการค้า ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ ปัจจุบันประเทศไทยมีสมาคมการค้า 1,218 สมาคม โดยแผนงานปี 2568 7.2.1) พัฒนาศักยภาพสมาคมการค้า โดยการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมาคมการค้า รวมถึงธุรกิจที่เป็นสมาชิกของสมาคมการค้าให้มีความเข้มแข็ง 7.2.2) ยกระดับสมาคมการค้า โดยการจัดประกวดสมาคมการค้าดีเด่น ปี 2568 เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 13 7.2.3) สร้างเครือข่ายพันธมิตรสมาคมการค้า ผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิด ‘ห่วงโซ่มูลค่า : Value Chain’ สร้างโอกาสทางการค้าและต่อยอดธุรกิจระหว่างสมาคมการค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายรวม 400 ราย
8. แหล่งเรียนรู้เพื่อ SME (e-learning)ปัจจุบันได้เปิดให้ผู้ประกอบการ SME เข้าเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะการบริหารจัดการธุรกิจผ่าน dbdacademy.dbd.go.th จำนวน 4 หลักสูตร 38 วิชา และ แผนงานปี 2568 จะเพิ่มเติมอีก 3 หัวข้อวิชา ได้แก่ วิชาเส้นทางสู่ความสำเร็จธุรกิจร้านอาหาร วิชารู้ทันภูมิรัฐศาสตร์สร้างโอกาสธุรกิจไทย และ วิชา AI for Businessทำให้ปี 2568 จะเพิ่มเป็น 4 หลักสูตร 41 วิชา ปัจจุบัน (ตุลาคม 2567 – กุมภาพันธ์ 2568) มีผู้จบหลักสูตรแล้ว จำนวน 18,006 ราย
9. ธุรกิจครอบครัว (Family Business) เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการ Family Business Thailand เพื่อสร้างธุรกิจครอบครัวของไทยให้มีความเข้มแข็ง ทายาทธุรกิจมีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และช่วยผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ปี 2567 ได้เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวไปแล้ว 286 ราย โดยแผนปี 2568 จะดำเนินการ 9.1) เสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว จำนวน 2 ครั้ง เป้าหมาย 200 ราย 9.2) บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
10. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SME เข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้ไม้ยืนต้นและธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยแผนงานปี 2568 10.1) จัดกิจกรรมส่งเสริมการนำทรัพย์หลักประกันเข้าถึงแหล่งทุน โดยการให้ความรู้ประโยชน์ของต้นไม้ ชนิดของไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ รวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ การประเมินมูลค่าไม้ยืนต้น โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 2 จังหวัด คือ นครสวรรค์ และนครพนม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 425 ราย 10.2) จัดกิจกรรมส่งเสริมกิจการร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) แสดงศักยภาพการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีสถาบันการเงินเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยได้จัดงานไปแล้วระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2568 (5 วัน) ณ ไอคอนสยาม สร้างรายได้ตลอดการจัดงานรวม 2.25 ล้านบาท

11. พัฒนาศักยภาพตลาดธุรกิจชุมชนด้วยหลักการ Smart Local เป็นการยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความโดดเด่น มีรสนิยม เสริมสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ พร้อมปรับตัวรับสถานการณ์การค้า เพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน
โดยในปี 2567 ได้ดำเนินการ *สร้างโอกาสทางการตลาด Smart Local * เสริมแนวคิดผู้ประกอบการชุมชนมีดี และพัฒนา 4 ทักษะเชิงลึก ‘ผู้ประกอบการชุมชนมีดี ME-D’ * สร้างต้นแบบเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนมีดี ‘พะ-มหา-นคร’ พะเยามีดี มหาสารคามมีดี นครศรีธรรมราชมีดี *ส่งเสริมการตลาดและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีผู้ประกอบการชุมชนได้รับการพัฒนารวม 496 ราย สร้างมูลค่าการค้า 435.42 ล้านบาท
แผนงานปี 2568 ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วย Smart Skill แบ่งเป็น – Smart Local Clinic คลินิกธุรกิจ 4 ครั้ง 4 ภูมิภาค – Smart Local Camp ค่ายบ่มเพาะทางธุรกิจ 1 ครั้ง – Smart Local Connect เชื่อมโยงธุรกิจ 1 ครั้ง – Smart Local Communication สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชน 4 เส้นทาง * ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ประกอบการชุมชน ผ่าน 3 งานใหญ่ คือ OTOP City, OTOP Midyear และ OTOP ศิลปาชีพประทีปไทย * สร้างโอกาสทางการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนรวม 362 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 118ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาและให้การส่งเสริมธุรกิจชุมชนทุกรูปแบบ โดยมุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของจังหวัด รวมทั้ง ร่วมกันสนับสนุนขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญของผู้ประกอบการชุมชนสู่การปฏิบัติอย่างสัมฤทธิ์ผล โดยต้องการส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่การเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยมที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
ซึ่งองค์ประกอบและบริบทสำคัญที่ง่ายต่อการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่การเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นนิยม คือ การกำหนดแผนงานและมีเป้าหมายที่ชัดเจนส่งผลให้การส่งเสริมธุรกิจเกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถผลักดันผู้ประกอบการชุมชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นผู้ประกอบการแห่งเมืองเศรษฐกิจนิยมที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th.