‘พาณิชย์’ ชี้! มติ อนุ นบข. เคาะ 3 แนวทางช่วยชาวนาได้จริง – มั่นใจดึงราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น

อธิบดีกรมการค้าภายใน เผย! มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการ นบข.ด้านการตลาด หลังออก 3 มาตรการเร่งด่วน “ชะลอขายข้าว-ชดเชยดอกเบี้ย-เปิดจุดรับซื้อ” มั่นใจ! ช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง ย้ำ! สามารถทำได้ทันที แถมไม่ขัดมติ ครม.และนบข. เชื่อดึงราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้นแน่!

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ นบข.ด้านการตลาด ได้คำนึงถึงข้อเรียกร้องของเกษตรกรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการประกันราคา หรือประกันรายได้ หรือข้อเรียกร้องที่เข้าข่ายการรับจำนำข้าว ซึ่งคณะอนุกรรมการได้พิจารณาหารือกันอย่างรอบคอบทุกมิติแล้ว เห็นว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวขัดกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 และมติ นบข. เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 ที่กำหนดว่าในการจัดทำมาตรการ/โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรกร ให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงแก่เกษตรกร

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือพี่น้องชาวนาเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เกิดการพยุงราคาและดึงราคาตลาดเพิ่มสูงขึ้น จึงได้เสนอมาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง 2568 ที่สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)  ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่…

1. มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปรัง โดยรัฐช่วยค่าฝากเก็บ 1,000 บาท/ตัน หากชาวนามีที่เก็บเองก็จะได้รับเพิ่มอีก 500 บาท เป็น 1,500 บาท ซึ่งเก็บอย่างน้อย 1 – 5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท เพื่อเป็นการกระตุ้นการซื้อและดึงราคาข้าวขึ้น

2. มาตรการเปิดจุดรับซื้อข้าวของเกษตรกร ที่ไม่มีสถาบันเกษตรกรฝากเก็บและต้องการขายข้าวในทันที โดยผู้ประกอบการค้าข้าวจะช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท เป้าหมาย 300,000 ตัน วงเงิน 150 ล้านบาท และ

3. มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้มีการซื้อข้าวจากเกษตรกร โดยเงื่อนไขผู้ประกอบการต้องซื้อข้าวในราคานำตลาด 200 บาทต่อตัน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ขายข้าวในราคาที่เพิ่มขึ้น โดยรัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ 6% ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้มากกขึ้นและดึงซัพพลายออกจากตลาด โดยเป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาท

โดยการพิจารณาของ คณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการตลาด ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วว่า สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด โดยใช้วิธีการกระตุ้นให้มีการรับฝากเก็บและเปิดจุดรับซื้อเพื่อดึงซัพพลายออกจากตลาด นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการเข้าถุงและโมเดิร์นเทรดจัดทำเข้าถุงราคาประหยัดเป้าหมาย 500,000 ตัน

นายวิทยากร กล่าวอีกว่า ในส่วนของการพิจารณาข้อเรียกร้องที่จะเป็นภาระกับพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเผาฟาง หรือการเยียวยาพื้นที่รับน้ำ คณะอนุกรรมการ นบบข. ด้านการตลาด ได้หารือกันอย่างรอบคอบและพิจารณาให้ คณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการผลิต ดำเนินการรับไปพิจารณาโดยด่วนต่อไป ในส่วนข้อกังวลเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ จากการกำหนดมาตรการไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนเกษตรกร  หรือการพิจารณาให้เพิ่มโรงสีหรือสถาบันการเงินเข้ามาในโครงการ ในส่วนนี้จะมีการพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ขอเรียนให้พี่น้องเกษตรกรทราบว่า มาตรการช่วยเหลือข้าว ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวที่ผ่านมาเคยใช้กับการปลูกข้าวนาปีเท่านั้น  ซึ่งสำหรับปีนี้ได้มีการพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งอยากให้พี่น้องเกษตรกรทราบว่า รัฐได้พิจารณาอย่างรอบคอบและทั่วถึงเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวนาและจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด นายวิทยากร กล่าวทิ้งท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password