‘พาณิชย์’ เคาะ 3 มาตรการ ช่วยข้าวนาปรัง ดันชาวนาได้เงิน 8,000-8,500 บ./ตัน

คณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการตลาด เคาะ 3 มาตรการช่วยข้าวนาปรัง ให้สินเชื่อเก็บข้าวตันละ 1,500 บาท ชดเชยดอกเบี้ยโรงสี 6% แต่ต้องซื้อข้าวบวกเพิ่มตันละ 200 บาท และเปิดจุดรับซื้อ ช่วยค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท แต่ต้องซื้อข้าวบวกเพิ่มตันละ 300 บาท วางเป้าหมายดูดซับผลผลิตรวม 3.8 ล้านตัน เตรียมชง นบข.อนุมัติสัปดาห์หน้า
พร้อมจับมือห้างกระตุ้นการบริโภค พ่วงขอ EXIM Bank ช่วยปล่อยสินเชื่อให้ผู้ส่งออก ด้าน “นภินทร” เผยมาตรการนี้ ช่วยชาวนาได้เงิน 8,000-8,500 บาท/ตัน ขณะที่ชาวนาฝากให้ภาครัฐช่วยหาทางแก้ไขเพราะราคาข้าวขณะนี้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอย่างมาก

นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง การประชุม คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ที่ประชุมฯมีมตินำเสนอมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2568 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่ปกติจะใช้เฉพาะการดูแลข้าวเปลือกนาปี โดยจะนำมาใช้ดูแลข้าวเปลือกนาปรัง มีจำนวน 3 มาตรการ และจะนำเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย…
1.สินเชื่อชะลอนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน หากเกษตรกรเก็บไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง และได้ 1,000 บาทต่อตัน หากเก็บที่สหกรณ์ โดยสหกรณ์ได้ 500 บาทต่อตัน ต้องเก็บข้าวไว้ 1-5 เดือน เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน

2.ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6% ต้องเก็บสต๊อกไว้ 2-6 เดือน และต้องซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด 200 บาทต่อตันขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน
และ 3.เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน และผู้ประกอบการต้องรับซื้อข้าวสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะร่วมมือกับห้างค้าปลีก โมเดิร์นเทรด ห้างท้องถิ่น จัดจุดจำหน่ายราคาไม่เกิน 100 บาท เพื่อกระตุ้นการบริโภค เป้าหมาย 5 แสนตัน และมาตรการส่งเสริมการส่งออกข้าวไทย โดยขอความร่วมมือ EXIM Bank จัดสินเชื่อพิเศษให้ผู้ส่งออกข้าวในอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เพื่อช่วยลดต้นทุน และเร่งผลักดันการส่งออก รวมทั้งจะเดินหน้าผลักดันการส่งออกข้าว ซึ่งได้หารือกับจีน เพื่อให้เร่งซื้อข้าวจีทูจีในส่วนที่เหลือ 2.8 แสนตัน และจะไปเจรจาขายข้าวให้แอฟริกาใต้ เป้าหมาย 3 แสนตันในเดือน มี.ค.นี้

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เกษตรกรต้องการขายข้าวเปลือกเจ้าให้ได้ราคาไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตันเป็นข้าวสด ซึ่งมาตรการที่ออกมาจะช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้ 8,000 บาท หากตอนนี้ราคาข้าวเกี่ยวสดได้ 7,000 บาท ก็จะได้เงินเพิ่มจากมาตการฝากเก็บ 1,000-1,500 บาทต่อตัน รวมเป็น 8,000-8,500 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่ชาวนาต้องการ ส่วนการเปิดจุดรับซื้อ หากขายไม่ได้ 8,000 บาท เกษตรกรก็ไม่ต้องขาย ส่วนข้อเสนอที่เกษตรกร ขอให้ชดเชยเรื่องต้นทุน เรื่องการไม่เผาฟางข้าว เป็นเรื่องคณะอนุกรรมการด้านการผลิต จะต้องพิจารณา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพเรื่องนี้

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมข่าวนาและเกษตรกรไทย กล่าวก่อนการประชุมฯ ว่าสมาคมชาวนาฯได้ยื่นหนังสือไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ แล้ว ในเรื่องของราคาจำหน่ายข้าวโดยข้อเสนอหลัก ๆ มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1.ราคาข้าวที่ตกต่ำในขณะนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรในการช่วยเหลือบ้าง 2.ในเรื่องของฟางข้าว ซึ่งชาวนาได้มีการเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่ทราบคำตอบว่าที่ประชุมจะมีการอนุมัติหรือไม่ และ 3.เรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้นทุนการผลิตที่ราคายาฆ่าแมลงและปุ๋ยปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงน้ำมันแพง
ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการใดในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะมาตรการชดเชยรายได้ 500 บาทต่อไร่ไม่จำกัดจำนวน ตามพื้นที่เพาะปลูกจริงและขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาทิ เกษตรกรทำนา 100 ไร่ รัฐบาลจะต้องชดเชยให้เกษตรกร 500 บาท ทั้ง 100 ไร่ เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เพียงแค่ 20 ไร่ ขณะที่ราคาข้าวในปัจจุบัน โดยเฉพาะข้าวขาว กข79 ความชื้น 25% พบว่าราคาค่อนข้างดี คือยังไม่หลุดกรอบ 8000 บาทต่อตัน แต่ทั้งนี้การรับซื้อในแต่ละพื้นที่ อาจมีความแตกต่างกันและยอมรับว่าบางพื้นที่ก็มีราคาข้าวที่ 6000 บาทต่อตัน โดยตนได้เตรียมข้อเสนอในส่วนของราคาข้าว โดยให้รัฐบาลมีการกำหนดเรทราคา อาทิ ข้าวขาวความชื้น 15% ราคา 10,000 บาทต่อตัน แทนการให้ความช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท

ส่วนข้อเรียกร้องในเรื่องประกันราคาข้าวอยู่ที่ 11,000 บาทต่อตัน นายปราโมทย์ ระบุว่า จะต้องพิจารณาที่ชนิดของข้าว โดยก่อนหน้านี้ตนได้เรียกร้องให้ราคาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 13,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานีอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน /ข้าวเหนียวและข้าวพื้นนุ่ม 11,000 บาทต่อตัน ข้าวขาวหรือข้าวแข็งทั่วไปอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน หากรัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้ทุกอย่างก็จะจบ
อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่ารัฐบาลจะรับการตอบรับที่สมาคมชาวนาฯเสนอไป แต่หากไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เชื่อว่ารัฐบาลจะลำบากแน่ เพราะต้นทุนการผลิตของชาวนาพุ่ง 5500-6000 บาทต่อไร่ หากรัฐบาลไม่ตอบรับข้อเสนอ จะทำให้ชาวนาทำนาไม่คุ้มทุนและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนา ซึ่งตนก็ไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ส่วนตัวมองว่ายอมรับได้ที่ชาวนาออกมาเรียกร้อง แต่ไม่อยากให้เกิดการปิดถนน ซึ่งตนเองก็เคยบอกกับรัฐบาลไปว่า ถ้าชาวนาอยู่ได้ รัฐบาลก็อยู่ได้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ไม่ให้ความสนใจกับชาวนาเลยว่าจะมีความเป็นอยู่อย่างไร ทุกวันนี้ไม่มีหน่วยงานใดสนใจชาวนา และที่ผ่านมาชาวนาเองก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องรวมเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ปีนี้ประสบภาวะวิกฤตหนักที่ราคาข้าวเหลือเพียง 6000 บาทต่อตัน ชาวนาจึงได้ออกมาเรียกร้องในวันนี้

ทั้งนี้ หากการประชุมไม่ได้ข้อสรุป ก็จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ หรือ นปข. เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะหากรัฐบาลดำเนินการล่าช้า ปริมาณข้าวที่จะออกสู่ตลาดจะอยู่ที่โรงสีทั้งหมด เนื่องจากราคาเป็นไปตามที่เกษตรกรต้องการ ส่วนการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้วยการเปิดจุดรับซื้อตลาดนัดข้าวเปลือก 20 แห่ง ตนเห็นด้วย แต่ชาวนาไม่พอใช้ เพราะเป็นการเพิ่มราคาข้าวขึ้นเพียง 300 บาทต่อตัน ซึ่งใกล้เคียงกับราคาตลาด แต่ไม่ตอบโจทย์เกษตรกร
ส่วน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษากิตมศักดิ์สมาคมชาวนาฯ กล่าวว่า เนื่องจากฤดูที่ผ่านมาเป็นฤดูที่ยาวนานและมีอากาศหนาวเย็น ได้ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าว ทำให้ข้าวออกไม่สุดรวง จึงเกิดปัญหาข้าวลีบในทุกชนิดข้าว บวกกับสถานการณ์ราคาข้าวที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ชาวนาบางส่วนขายข้าวได้เพียง 6000-8000 บาทต่อไร่ โดยสมาคมชาวนา หวังว่าจะมีข้าวชุดใหญ่ในพื้นที่นาปรังภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกปริมาณ 6.5 ล้านตัน.
