‘พาณิชย์’ ถกเอกชน ผุด ‘7 มาตรการ’ ช่วยชาวนา ก่อนชง อนุ นบข. 20 ก.พ.นี้ – เผย! เตรียมออกข้าวถุงระบายสต็อกข้าว

“อธิบดีกรมการค้าภายใน” นัด “สมาคมผู้บรรจุข้าวถุง – ห้างและตลาดสด” เตรียมผุดข้าวบรรจุถุงขนาด 5 กก.ในราคาไม่แพง หวังยลดสต็อกข้าวให้ชาวนา พ่วงลดค่าครองชีพให้ประชาชน ด้าน “พิชัย นริพทะพันธุ์ ” จี้นัดประชุม คณะอนุ นบข. เร่งคลอด 7 มาตรการ ดันราคาข้าวช่วยเหลือเกษตรกร หลังพบแนวโน้มราคาขายหดตัว พร้อมเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ขยายส่งออกตลาดต่างประเทศ เตรียมชงเข้าบอร์ดใหญ่ นบข. 20 ก.พ.นี้

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมการค้าภายใน ได้ประชุมร่วมกับ สมาคมบรรจุข้าวถุง ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาช่องทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกในตลาดมีโอกาสที่แนวโน้มลดลงและต่ำกว่าต้นทุนการผลิตสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผลการประชุมในครั้งนี้ จะเน้นเพิ่มช่องทางระบายข้าวโดยจะออกแนวทางเชิญชวนให้ภาคเอกชนจัดทำข้าวบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัมในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เบื้องต้นน่าอยู่ถุงละเกือบ 90-100 บาท และจะร่วมกันพิจารณาว่าจะทำข้าวบรรจุถุงนี้ออกมาจำนวนมากน้อยแค่ไหนด้วย ซึ่งข้าวบรรจุถุงนี้นอกจากจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้วจะเป็นการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประขาชนอีกด้วย.

ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยสั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (อนุ นบข.) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกที่ลดลงจากการกลับมาส่งออกของอินเดียหลังหยุดไป 2 ปี รวมถึงแนวโน้มการนำเข้าที่ลดลงจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยตนได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อพยุงราคาข้าวไทย ทั้งนี้ โดยได้ออก 7 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย…

1.เร่งประชุม อนุ นบข. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) พิจารณา

2.เปิดตลาดนัดข้าวเปลือกใน 20 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น คาดว่าราคาข้าวเปลือกจะเพิ่มขึ้น 100-200 บาทต่อตัน โดยเริ่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ และจะจัดอีก 14 ครั้งจนถึงเมษายน 2568

3.ขยายตลาดส่งออก โดยเตรียมเดินทางไปแอฟริกาใต้ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ส่งออกข้าว 300,000 ตัน มูลค่ากว่า 5,250 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในตลาดโลก

4.ผลักดันการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) กับจีน อีก 280,000 ตัน เพื่อลดอุปทานข้าวส่วนเกินในประเทศ

5.สนับสนุนสินเชื่อพิเศษ โดยหารือกับ EXIM BANK เพื่อให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกข้าว ช่วยให้สามารถรับซื้อและสต๊อกข้าวจากเกษตรกรได้มากขึ้น

6.จัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทยในเวทีสากล ผ่านงานประชุม Thailand Rice Convention (TRC) เชิญผู้นำเข้าข้าวทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเจรจาธุรกิจ

7.ขยายตลาดส่งออกระยะยาว โดยมุ่งเปิดตลาดใหม่ในสหรัฐฯ ยุโรป และฟิลิปปินส์ พร้อมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย

ราคาข้าวที่ลดลงเป็นผลจากปัจจัยภายนอก ทั้งการกลับมาส่งออกของอินเดีย และแนวโน้มการนำเข้าที่ลดลงจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เรากำลังเร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือ โดยจะมีการประชุม อนุ นบข. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาแนวทางร่วมกับตัวแทนเกษตรกร สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งเจรจากับจีนเพื่อให้รับซื้อข้าวเพิ่มอีก 280,000 ตัน นอกจากนี้ เดือนหน้า ตนจะเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อเปิดตลาดใหม่ เชื่อว่าหากเราผลักดันมาตรการทั้งหมดนี้ได้สำเร็จ ราคาข้าวจะปรับตัวดีขึ้น  เราทำทุกวิถีทางพยายามช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร” นายพิชัย ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password