ครม.ไฟเขียว ‘ร่าง กม.ศูนย์กลางการเงิน’ ดันไทยสู่ ‘ผู้นำ’ ของภูมิภาคอาเซียน
![](https://yutthasartonline.com/wp-content/uploads/2025/02/CoverR1-Financial-Hub.jpg)
ครม. เห็นชอบหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการเงิน (Fin Hub) แล้ว “เผ่าภูมิ” ชี้! เป็นก้าวสำคัญดันไทยขึ้นสู่ “ผู้นำการเงิน” ของภูมิภาค พร้อมเปิดกว้าง Digital Asset ชาติต้นๆ ในโลก ด้าน“โฆษกกระทรวงการคลัง” ระบุ! กฎหมายใหม่นี้ มี 9 หมวด 96 มาตรา มั่นใจ! อัพไทยสู่ศูนย์กลางทางการเงิน ดึงดูดสถาบันการเงินจากต่างประเทศเข้าลงทุน กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ทางการเงิน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง แถลงข่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เห็นชอบหลักการของ ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยกฎหมายใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาใบอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub มีความครบวงจร เป็นสากล และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้มีหน่วยงานหลักกำหนดนโยบายในการส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และกำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน (Ecosystem) ทั้งการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตรา ยกเว้นกฎหมาย 7 กฎหมาย กำหนดรายละเอียดธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Authority: OSA) กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจและกลไกการขออนุญาต กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน รวมไปถึงแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักสากล โดยสรุปหลักการร่าง พ.ร.บ. ได้ดังนี้
1) ผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ
2) ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใน Financial Hub (1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน (3) ธุรกิจหลักทรัพย์ (4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (6) ธุรกิจประกันภัย (7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ (8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน ต้องมีสถานที่ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามกำหนด สามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเท่านั้น ยกเว้นในบางเงื่อนไขที่เป็นไปเพื่อการประกอบธุรกิจ
3) การขออนุญาต ยื่นขอใบอนุญาตผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA) ที่จะตั้งขึ้นใหม่ เพื่อเป็นหน่วยงานให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) โดยมีคณะกรรมการ OSA ทำหน้าที่ (1) กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub (2) กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย (3) กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต (4) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอน (5) กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
4) สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจใน Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่ คกก. กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น
โดยการพัฒนาไทยให้เป็น Financial Hub ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย พัฒนาภาคการเงินของประเทศไทย รวมทั้งสร้างโอกาสให้แก่แรงงานไทย ดังนี้
1. พัฒนาระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงิน สร้างไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โดยการเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลกจะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและทันสมัย ทำให้ไทยระบบนิเวศน์การเงินที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยไทยจะเป็นประเทศต้นๆ ในโลกที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใน Financial Hub
2. พัฒนาทักษะแรงงานไทย การเข้ามาของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินระดับโลกจะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะทางการเงินที่ทันสมัย และเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้ทำงานในบริษัทชั้นนำและพัฒนาศักยภาพของตนเอง
3. สร้างโอกาสการจ้างงานและรายได้ที่สูง โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เทคโนโลยี และบริการสนับสนุนด้านการเงิน เป็นการส่งเสริมอาชีพที่มีรายได้สูง แรงงานไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
4. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจต่างชาติจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารสำนักงาน ระบบขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น และทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจทางการเงินเพื่อขยายโอกาสการเติบโต
ด้าน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการจัดตั้งศูนย์กลางทางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มีบทบาทเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต นั้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ครม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub ได้อย่างแท้จริงตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ในระยะต่อไปร่าง พ.ร.บ. จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ก่อนที่จะมีผลใช้บังคับต่อไป
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบด้วย 9 หมวด 96 มาตรา โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) การประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub
Financial Hub ต้องการดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย ๗) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในประเทศไทย โดยต้องมีสถานที่ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดตามความพร้อมในการพัฒนา Ecosystem หรือโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญและจะต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น ห้ามชักชวนหรือให้บริการลูกค้าในประเทศไทย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายสามารถประกอบกิจกรรมการมีส่วนร่วมในตลาด (Market Participant) ได้ ดังนี้
(1) ผู้ประกอบธุรกิจด้านประกันภัยภายใต้ Financial Hub สามารถทำประกันภัยต่อ กับบริษัทประกันภัยในประเทศไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้
(2) ผู้ประกอบธุรกิจด้านตลาดทุนภายใต้ Financial Hub สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
(3) ผู้ประกอบธุรกิจด้านสถาบันการเงินภายใต้ Financial Hub สามารถทำธุรกรรม Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้
(4) ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้ Financial Hub สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partner) หรือเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้ หากมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน
(5) ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ Financial Hub ที่ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน จะมีสถานะเป็น
Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
2) สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub
ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะพิจารณาให้ทัดเทียมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของต่างประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีที่จะได้รับ เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น
3) การอนุญาตและกำกับดูแลธุรกิจภายใต้ Financial Hub
การดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิด Financial Hub นั้น จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้น เป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub และสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คณะกรรมการ OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Financial Hub กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต และพิจารณาการอนุญาต รวมทั้งการเพิกถอนการอนุญาต รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูแลฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน การคุ้มครองผู้บริโภค การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เป็นต้น
นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจเป้าหมายอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้ คณะกรรมการ OSA จะประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการต่าง ๆ ในการส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง รอบคอบ มีประสิทธิภาพและตรงตามขอบเขตวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีปัจจัยที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศ เช่น ทักษะแรงงานไทย โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไทยที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น…
(1) การดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น
(2) การส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะทางการเงินที่ทันสมัย สร้างโอกาสการจ้างงานและรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เทคโนโลยี และบริการสนับสนุนด้านการเงิน
และ (3) เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจของไทย กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินและนวัตกรรมทางการเงินของประเทศไทย.