‘รมว.พาณิชย์’ ไม่รอช้า! ประกาศปี’68 เดินหน้าเจรจา FTA ต่อเนื่อง หลังปิดจบ FTA ไทย-เอฟตาใน 3 ด.
“พิชัย นริพทะพันธุ์” โชว์วิชั่นบนเวทีสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ประกาศชัดปี 2568 กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าเต็มสูบเร่งเจรจาภายใต้กรอบ FTA ต่อเนื่อง หลังปิดจบ FTA ไทย-เอฟตา ใน 3 เดือน มั่นใจนโยบายแผนการค้าการลงทุนของรัฐบาลมาถูกทางที่จะรับการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ทั่วโลก
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ดำเนินโครงการ Asia Forwards Series จัดบรรยายพิเศษว่าด้วย กระบวนทัศน์ต่อเอเชียในอนาคต ในโอกาสที่ สถาบันเอเชียศึกษาก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ในปี 2568 นี้ โดยมีแผนจัดงานเป็นซีรีส์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2568 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งแรก ในหัวข้อ “Thailand-Australia: Opportunities and Challenges in a Volatile World” พร้อมกับเชิญให้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กล่าวบรรยายในวาระพิเศษนี้ โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษา ตัวแทนองค์การระหว่างประเทศ สถานอัครราชทูต ภาคเอกชน นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างด้านเศรษฐกิจการค้า ต้อนรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อาหารและการเกษตรขั้นสูง ซึ่งไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร สนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของโลก (Food Security) ในภาวะที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับความไม่สงบและความผันผวน รวมถึง การให้ไทยเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ PCB Data Center และ AI
กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังตั้งเป้าที่จะปิดจบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) อีกหลายฉบับ ด้วยมองว่า FTA เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปัจจุบัน ไทยมี FTA รวม 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ และในวันที่ 23 มกราคม 2568 ไทยจะลงนาม FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ที่เมืองดาวอส ซึ่งจะเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับกลุ่มประเทศยุโรป
“รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำมาร่วมทศวรรษ วันนี้ต้องโตอย่างน้อย 5% ต่อปี เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง FTA จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี การส่งออก 11 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ขยายตัวถึง 5% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการลงทุน 9 เดือนแรกของปี 2567 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่าสูงถึง 720,000 ล้านบาท ขยายตัว 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี” นายพิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน เน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์จึงได้ใช้หลักการทำงาน 80:20 โดย 80% ทำหน้าที่สนับสนุน (Supporter) สร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและเกษตรกร และ 20% ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจการค้า ซึ่งตนพร้อมช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ถ้ามีปัญหาให้มาพบกับ รมว.พาณิชย์ ได้เสมอ
สำหรับ ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย ถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของไทย ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) เป็น FTA ทวิภาคีฉบับแรกของไทย และจะครบรอบ 20 ปี ในปีนี้ (TAFTA มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2548) ตั้งแต่ TAFTA มีผลบังคับใช้ ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าหรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี นอกจากนี้ ไทยกับออสเตรเลียกำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (SECA) มีโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทำร่วมกัน เช่น ด้านเกษตร ระบบอาหารยั่งยืนการท่องเที่ยว การค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583” (Southeast Asia Economic Strategy to 2040) ของออสเตรเลียยังสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนของไทยในหลายด้าน เช่น เกษตรและอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ การศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึง ซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับทั้งสองประเทศด้วย
นายพิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของประชากรโลก ซึ่งประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน และอินเดีย และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลาง ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต การจัดงาน Asia Forwards Series ในวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากแวดวงวิชาการ นโยบาย และอุตสาหกรรม จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพลวัตทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของเอเชีย ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวทางใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาคนี้ ต่อไป.