แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉ.ที่ 13 ความงุ่มง่ามของรัฐไทย

ไทยประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มาแล้ว 12 ฉบับ ล่าสุด! ครม.เพิงเห็นชอบร่างฯฉบับที่ 13 ตั้งเป้าหวังขับเคลื่อน 4 มิติ 13 หมุดหมาย ดันไทยสู่ฐานผลิตรถ EV ของโลก แต่จะไล่ล่าความฝันได้หรือไม่? หรือแค่หลอกคนไทยไปวันๆ ต้องรอดูกันต่อไป

ประเทศไทยถือเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการพัฒนาประเทศ และเป็นเราที่ไปสอนประเทศเกาหลีใต้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบัน เราประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว 12 ฉบับ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของปีงบประมาณ 2566 ประเทศไทยก็จะได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2566 – 2570) ตามที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และเตรียมจะถูกส่งเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

จากนั้น จะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่จะได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

ผ่านมา 12 ฉบับ หรือราว 60 ปี ประเทศไทยพัฒนาไปถึงระดับไหน? หากเทียบกับตัวเอง หรือเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม)…ก็คงพอจะเห็นพัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้ากันได้บ้าง

แต่หากเทียบความเจริญในทุกๆ มิติกับประเทศเกาหลีใต้ ที่เราเคยไปสอนเขาทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ถือว่า…ไทยเราล้าหลังอย่างมหันต์

มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยและคนไทย เป็นเพราะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของเราไม่ดีพอ หรือเป็นเพราะคุณภาพของคนในประเทศ โดยเฉพาะ…กลุ่มคนผู้ถืออำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการประจำ นายทหารใหญ่ในกองทัพ ฯลฯ ไม่ดีเท่าคนเกาหลี?

เก็บคำถามที่ยากจะหาคำตอบนี้…ไว้ก่อน ลองดูที่มาและเหตุผลของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่ง ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบรับร่างของแผนฯฉบับนี้ เมื่อคราวประชุม ครม. วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงจากทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกัน ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่ง ร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ถือเป็นแผนระดับที่ 2 โดยจะถูกนำไปใช้เป็น… กลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไป คือปี 2566 – 2570 เพื่อให้ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ มีสาระสำคัญ เช่น

หลักการและแนวคิด 4 ประการคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว”, เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG) วัตถุประสงค์ คือ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

ขณะที่ เป้าหมายหลักของการพัฒนามี 5 ประการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม, การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่, การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม,การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

โดยมี “ตัวชี้วัด” ที่สำคัญ ได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 บาท โดยปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท, ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 โดยปี 2563 อยู่ที่ 0.6501

ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า โดยปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า, ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี 2561การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลงร้อยละ 16 และดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100

“หมุดหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 มีทั้งหมด 13 หมุดหมาย จำแนกออกเป็น 4 มิติ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ ก่อนจะย้ำว่า ในส่วนของ 4 มิติ ประกอบด้วย…

1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย รวม 6 หมุดหมาย ได้แก่ ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก, ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง, ประเทศไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่ ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้, ประเทศไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และประเทศไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3.มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ประเทศไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และ ประเทศไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และ 4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย คือ ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และประเทศไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ข้างต้นคือ หลักการและเหตุผลที่ “คนของรัฐบาล” ได้สื่อสารไปถึงคนไทย ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วประเทศ แต่ท้ายที่สุดแล้ว…สิ่งที่รัฐบาลคิด จะทำได้อย่างที่คิดหรือไม่? ได้เท่าใด? ตรงตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่? คงยากจะตัดสินความถูกผิด!

ตราบใดที่คนตรวจสอบและประเมินผลงานของรัฐบาล…ไม่ใช่ประชาชนหรือตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password