เตือน ‘ครม.เศรษฐา’ ลุย ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’ ส่อเข้าข่ายประมาทร้ายแรง – อาจชดใช้เงินคืนในอนาคต
อดีต รมว.คลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เตือน ครม.เศรษฐา อนุมัติ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่อร้ายแรง ต้องใช้เงินคืนภายหลัง ส่วนคณะทำงานของนายกฯ ชี้! รัฐบาลเลือกใช้แอพฯทางรัฐ ปูทางสู่ E-Government ย้ำ! ปลอดภัยสูง เช็คกลโกงได้ ขณะที่ รมว.ดีอี ระบุ! หลังเปิดให้ดาวน์โหลดแอปฯทางรัฐ ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ มอบ สกมช.ดูแลแบบเกาะติด
นายศุภกร คงสมจิตต์ คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ ที่รัฐบาลจะใช้ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เนื่องจากสามารถนำไปสู่ E-Government ได้ โดยประชาชนสามารถใช้บริการต่างๆ ภายในแอพพลิเคชั่นได้ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ค่าเสียเวลาที่ประชาชนไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ และลดการเตรียมเอกสารต่างๆ ทำให้รัฐบาลมีข้อมูล และสามารถออกนโยบายให้ตรงเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงยังสามารถตรวจจับผู้ที่ทุจริต หรือผู้ที่ใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ด้วย เพราะจะมีการเก็บหลักฐานไว้ทั้งหมด ผ่าน Blockchain-based log
ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ขณะนี้ รัฐบาลมีความพร้อมสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยกระทรวงดีอีจะรับผิดชอบในส่วนของการลงทะเบียน และให้คำปรึกษาประชาชนเกี่ยวกับการลงทะเบียน ส่วนความปลอดภัยของแอพพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ นั้น ตั้งแต่ให้ประชาชนเริ่มเข้าไปตรวจสอบสิทธิจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบเห็นสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้ามาดูแลความปลอดภัย จึงไม่น่าเป็นห่วง
ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่อ “Thirachai PhuvanatnaranubalaW ว่า มีข่าวว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (30 ก.ค.2567) รัฐมนตรีคลังจะเสนอให้อนุมัติโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งนี้ ตนขอเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีฟังคลิปนี้ และขอเสนอแนะ ให้ต้องยืนยันให้ชัดเจนต่อคณะรัฐมนตรีว่าได้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว
กระทรวงการคลังต้องยืนยันได้ว่า ระบบการโอนชำระเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ จะสามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน และได้ผ่านการอนุมัติแล้วจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่กำกับดูแลระบบการโอนชำระเงินของประเทศ
หากโครงการนี้ ไม่สามารถดำเนินการระบบการโอนชำระเงินได้จริง ก็ต้องระมัดระวังว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีไปอนุมัติค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ ใด ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริง อาจจะเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และอาจจะต้องรับผิดชอบชดใช้คืนแก่รัฐในภายหลัง.