สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่นัดถกเข้ม! เสนอแก้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา

“นันทนา” เผย สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่นัดประชุมหารือทุกวัน พร้อมเสนอขอแก้ไขข้อบังคับประชุมวุฒิสภา ชี้จะปรับลดหรือเพิ่มจำนวน กมธ. จาก สว.ชุดเดิม ขึ้นกับประสิทธิภาพการทำงานที่ตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด เชื่อโหวตลับเลือก ประธาน-รองประธาน กมธ. อาจไม่โปร่งใส ควรเปิดช่องให้ประชาชนตรวจสอบได้  

ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ นายมงคล สุระสัจจะ เป็นประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 นั้น ล่าสุด ประธานวุฒิสภาได้นัดประชุมวุฒิสภา นัดที่2 ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ โดยมีวาระพิจารณาสำคัญคือ การแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อปรับบางบทบัญญัติให้สอดคล้องกับจำนวน ของ สว. รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจำนวนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ และ จำนวน กมธ.ในแต่ละคณะ

อีกด้านหนึ่ง น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มสื่อมวลชน แกนนำกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ประชุมหารือ เพื่อเตรียมเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในส่วนของ กมธ.สามัญ และ กมธ.ที่จะมีในแต่ละคณะ โดยจากข้อบังคับการประชุมฉบับเดิม จะมีกมธ. จำนวน 26 คณะ และบวกอีก 2 คณะ ส่วนที่จะปรับแก้ไขนั้นจะปรับลดหรือเพิ่มนั้น คงต้องพิจารณาให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหา เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด สำหรับการ กำหนดสเปคบุคคลที่จะเข้าไปเป็น กมธ. นั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลังจากที่เรื่องโครงสร้างใหญ่ คือ คณะกมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ

น.ส.นันทนา ย้ำว่า กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่จะประชุมหารือทุกวัน จนกว่าจะได้ข้อสรุปเป็นญัตติที่เตรียมไปเสนอและพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อขอการสนับสนุน ซึ่งการเสนอญัตติใดๆ นั้น ต้องมี สว.รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน เชื่อว่าญัตติของกลุ่มจะได้รับการสนับสนุนครบจำนวน ส่วนข้อเสนอต่อการปรับรูปแบบการโหวตประธาน และรองประธานวุฒิสภาให้โปร่งใส แทนการลงคะแนนลับนั้น แกนนำ กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ กล่าวว่า การลงคะแนนลับเป็นขั้นตอนที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นขั้นตอนที่มีความมืด ดังนั้น หากสามารถปรับเปลี่ยนได้ ทางกลุ่มพร้อมจะผลักดันเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และรู้สึกว่าการดำเนินงาน รวมถึงการทำหน้าที่ของ สว.มีความโปร่งใส และประชาชนตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ญัตติของกลุ่มฯ โดยเฉพาะในเรื่องแก้ไขข้อบังคับนั้น คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าสามารถไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่อย่างไร.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password