ผลสรุป ‘ปลัดฉิ่ง’ คืนตำแหน่ง ‘บิ๊กต่อ’ก่อนเกษียณ ส่ง ‘บิ๊กโจ๊ก’ จ่อผงาดเก้าอี้ ผบ.ตร.

กรณีความขัดแย้งภายใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระหว่าง “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” สั่นสะเทือนวงการสีกากี จนทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเรียกทั้งคู่มา “ดองเค็ม” ในทำเนียบฯ พร้อมตั้งคณะกก.ที่มี “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดมหาดไทย เป็นประธาน โดยล่าสุด ผลสอบได้ออกมาแล้ว ท่ามกลางความสนใจของสาธารณชน ว่าใครผิด ใครถูก โดยมี “วิษณุ เครืองาม” กนุซือนายกฯ เป็นผู้แถลงต่อสื่อมวลชน

แต่ปรากฏว่า “ไม่มีอะไรในกอไผ่” แค่ให้เแยกย้ายต่อกัน ส่ง “บิ๊กต่อ” กลับ สตช.พร้อมคืนเก้าอี้ ผบตร.ให้ ขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก”กลับที่เดิม ในตำแหน่ง รองผบ.ตร. แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ” ยังคงเป็นรองผบ.ตร.เบอร์1 ที่จะคั่วเก้าอี้ ผบ.ตร.

รายละเอียดเป็นอย่างไร น่าสนใจ ติดตามกันชัดๆ อีกครั้ง

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสตช. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. โดย คณะกรรมการที่มี “ปลัดฉิ่ง” เป็นประธาน ใช้เวลา 4 เดือน สรุปดังนี้

1.มีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยใน สตช. จริง มีความขัดแย้งทั้งในระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความร้องเรียนกันทั้งภายใน และภายนอก สตช.

2.เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และแต่ละคนจะมีทีมงานของตัวเอง ทีมงานก็เกิดความขัดแย้งกันด้วย โดยมีคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับคนเหล่านี้ เช่น คดีเป้รักผู้การ 140 ล้านบาท คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค และคดีย่อยๆ อีก 10 คดี

3.เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบไป บางเรื่องส่งให้หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ว่ากันตามปกติ

4.บางเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานนอกกระบวนการยุติธรรม คือ องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ปปง. ดีเอสไอ ซึ่งคดีต่างๆ มีเจ้าภาพรับผิดชอบแล้วทั้งสิ้น

5.กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 แต่เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่ สตช. ตั้งแต่ 18 เม.ย.2567 และวันเดียวมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุด เพื่อสอบสวนทางวินัย และตามมาด้วยคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่ยังไม่ได้กลับไป เมื่อแต่ละเรื่องมีเจ้าภาพรับผิดชอบแล้ว จึงสมควรที่จะส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่เดิม เพราะวันนี้ไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว สอบสวนเสร็จแล้ว หรืออะไรที่ยังไม่เสร็จก็อยู่ในมือ ป.ป.ช. จึงให้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

นายวิษณุ ย้ำว่า คณะกรรมการชุดนี้ที่มีนายฉัตรชัย เป็นประธานไม่ได้ชี้มูลว่าใครถูกใครผิด แต่ได้รายงานผลการสอบสวนให้นายกฯ ว่า พบเห็นความยุ่งยาก สับสน ระหว่างอำนาจสอบสวนของหลายหน่วยงาน ที่ไม่รู้ว่าอยู่ในอำนาจของใคร เช่น เรื่องไหนอยู่ในตำรวจ หรือ ป.ป.ช. เพราะคดีทุจริตมีเจ้าภาพมากเกินไป ซึ่งจริงๆ เจ้าภาพใหญ่ คือ ป.ป.ช.

คณะกรรมจึงเสนอแนะว่า ให้กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบให้ชัดว่า อำนาจหน้าที่อยู่ในอำนาจของใคร เพื่อเป็นคู่มือให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอนาคต จะไม่ได้ไม่โยนกันไปโยนมา และให้เป็นบทเรียน ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยนายกฯ รับทราบรายงานทั้งหมดหมดแล้ว จึงได้แจ้งให้ 2 หน่วยงาน ไปทำข้อสรุปมา รวมถึงนายกฯ จะออกคำสั่งสำนักนายกฯ ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ไปดำรงตำแหน่งเดิม

นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น เป็นการออกคำสั่งตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2505 ที่เคยทำกันมาในอดีต แต่ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ได้มีการเพิ่มมาตราหนึ่งว่า ในกรณีที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น คำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน ต้องทำโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 มีการออกคำสั่งถึง 3 คำสั่งคือ สั่งให้กลับ สตช. ตั้งกรรมการสอบวินัย และให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที ซึ่งเป็นปัญหา และมีการส่งไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 เห็นว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์และหน้าที่ รวมทั้งสิทธิการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงต้องทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นว่า ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม จึงให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง ดังนั้นสถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ถือว่าอยู่ระหว่างการรอนำความกราบบังคมทูลฯ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และขณะนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.ตร.) อยู่

เมื่อถามว่าคำสั่งที่ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนใครจะต้องรับผิดชอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าทำไม่ถูกก็ไปทำให้ถูก ส่วนผู้ลงนามในคำสั่งจะมีความผิดหรือไม่นั้น ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ ดำเนินการโดยสุจริตก็ไม่มีความผิด แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีการเปลี่ยนแปลงและไปกลั่นแกล้งก็ถือว่ามีความผิด ส่วนระหว่างที่ สตช.กลับไปทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนให้ถูกต้อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังสามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รองผบ.ตร.ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ต้องถือว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกออกจากราชการไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้การนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ และเหตุที่ยังไม่ได้มีการนำความกราบขึ้นบังคมทูลฯ เพราะกระบวนการที่ผ่านมายังไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังไม่หลุดออกจากตำแหน่ง ยังมีโอกาสลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “มีครับ ใครก็มีโอกาสขึ้นมาทั้งนั้นที่เป็น รองผบ.ตร. หรือเทียบเท่า” เมื่อถามว่ากรอบเวลาในการตรวจสอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีกำหนดไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ตรงกันข้ามบางเรื่องที่อยู่ใน ป.ป.ช.เขายังระบุไม่ให้นำมาพิจารณาเกี่ยวกับการโยกย้าย

“นายกฯ ขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันในงานราชการ ส่วนเรื่องส่วนตัวที่แต่ละคนมีอะไร และใครทำผิด ก็ขอให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย เพราะแต่ละหน่วยงานมีอำนาจอยู่แล้ว เชื่อว่าสถานการณ์จากนี้จะเบาบางลง เพราะที่ผ่านมา 4 เดือน ทั้งสองฝ่ายได้พบปะพูดจากันมากพอสมควร คณะกรรมการก็ได้เข้าไปไกล่เกลี่ย แต่ไม่ได้เป็นการซูเอี๋ย และไม่ใช่มวยล้มต้มคนดู”

ส่วนการที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไป สตช. จะเกิดความสงบเรียบร้อยใน สตช.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงจะจบ สงบลงไปได้ ส่วนที่มีอะไรกินใจกันคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และอีกไม่กี่เดือนจะมีการเตรียมหา ผบ.ตร.คนใหม่ แต่อย่างน้อยตอนนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ก็หลุด และไม่เข้ามาเกี่ยวในวงจร “ยืนยันคดีต่างๆ ต้องมีข้อยุติว่าใครผิดใครถูก โดยดำเนินการเหมือนคดีของคนทั่วไป ยืนยันไม่ได้เป็นการฟอกขาว เพราะคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช.ก็ต้องไปสู้กันต่อ” นายวิษณุ ระบุ

มีรายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่ง ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้ว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ อาจจะลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ เพื่อเปิดทางให้มีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ เข้ามารับไม้ต่อ โดยการเฟ้นหา ผบ.ตร.คนใหม่ จะเริ่มขึ้นในเดือน ส.ค. 2567

ขณะที่ “นายพลตำรวจ” ที่อยู่ในไลน์เข้าชิง ผบ.ตร.คนใหม่ได้มี 4 คน ประกอบด้วย 1. “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” รอง ผบ.ตร. อาวุโส อันดับ 1 เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.รุ่น 47) จะเกษียณอายุราชการในปี 2574
ถัดมา คือ “บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ” รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 2 เป็น นรต.รุ่น 41 คนสนิท “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผบ.ตร. คนที่ 12 จะเกษียณอายุราชการในปี 2569 อาวุโสลำดับ3 เป็น พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ นรต.รุ่น 39 เกษียณอายุราชการในปี 2568 และคนสุดท้าย คือ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. นรต.42 อาวุโสลำดับ 4 สายตรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. จะเกษียณอายุราชการในปี 2569

เมื่อเทียบฟอร์มดู คนที่จะเป็นคู่ชิง ผบ.ตร.คนใหม่ มีอยู่ 2 คน คือ “บิ๊กโจ๊ก” กับ “บิ๊กต่าย”

ณ เวลานี้ คนที่มีโอกาสสูงที่จะได้ผงาดนั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.คนที่ 15” คือ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” อาวุโสอันดับ 1 ซึ่งเหลือเวลาราชการอีก 7 ปี

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password