ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่ง ‘เศรษฐา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตีตกปม ‘พิชิต’ หลังลาออก

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากรับวินิจฉัยสถานะ‘นายกรัฐมนตรี’ปมผิดจริยธรรมตั้ง‘พิชิต’นั่งรมต. แต่‘ไม่สั่ง’หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้โอกาสแจง 15 วัน ตีตกคำขอฟัน‘อดีตรมต.ถุงขนม’เหตุพ้นจากตำแหน่งแล้ว

วันที่ 23 พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา48คนขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่ง จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน

ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากศาลฯพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ2561 มาตรา 7(4) และ ให้นายกรัฐมนตรียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ศาลรัฐธรรมนูญภายใน15วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ2561 มาตรา 54 ทั้งนี้ เสียงข้างน้อย 3 เสียงในประเด็นนี้ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

ส่วนกรณีของนายพิชิตผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของนายพิชิต ลงวันที่ 23พ.ค.67แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 นายพิชิต ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8ต่อ1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของนายพิชิตไว้พิจารณาวินิจฉัย โดย 1 เสียงข้างน้อยได้แก่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้นายเศรษฐาผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและ เอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5ต่อ 4 ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยตุลาการเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password