มุมมอง ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ในฐานะ ‘ขุนคลังเงา’ ต่อการปรับ ครม.’เศรษฐา2′
ปรากฎการณ์พลิกข้าง-จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ประชาธิปไตย-อนุรักษนิยม พรรคก้าวไกล กลับตาลปัตรเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เซตซีโร่สมการการเมืองใหม่ หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ฉีกเอ็มโอยู พรรคก้าวไกล จับมือ พรรคทหาร ตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรค-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจก้าวไกล คือ “รัฐมนตรีคลังหญิง” คนแรก ทว่า ปัจจุบันเธอสวมหมวก “รมว.คลังเงา”
“ศิริกัญญา” มองภาพรวมของการปรับครม.เศรษฐา2 ว่า รัฐมนตรีหลายคนที่เข้ามาเสริมทัพ “ถูกฝาถูกตัว” แต่ประชาชนยังติดใจ-ตั้งคำถาม ว่า การปรับครม.ครั้งนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ครม.ชุดใหม่ ยังไม่เห็นว่า คนที่ถูกปรับเข้ามาใหม่เพื่อมาทำภารกิจอะไรโดยเฉพาะ หรือคนที่ถูกปรับออก ถูกปรับออกเพราะผลงานไม่เข้าตาอย่างไร
“ทางออกของรัฐบาล คือ ออกมาพูดให้ชัดเจนว่า มิชชั่น หรือ ภารกิจที่มอบหมายให้รัฐมนตรีใหม่แต่ละคนคือเรื่องอะไร ส่วนเรื่อง KPI หรือ โรดแมปที่พรรคก้าวไกลเสนอ ดีที่สุด คือ การเปิดเผย KPI ต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับรู้”
“ศิริกัญญา” เจาะไปที่ใจกลางทำเนียบรัฐบาล “ครม.เศรษฐกิจ” ว่า ต้องยอมรับ การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายพิชัย ชุณหวชิร) แบบฟูลไทม์เป็นประโยชน์มากกว่าที่นายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“การมีรัฐมนตรีคลังฟูลไทม์น่าจะทำให้งานด้านการคลังมีคนใส่ใจในรายละเอียดมากขึ้น มีคนที่มีอำนาจเต็มในการสั่งการเรื่องต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) รับบทหนักมากเป็นพิเศษ”
รัฐมนตรีช่วยคลังอีกคน (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) คงมาด้วยภารกิจหลัก คือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นตัวตั้งตัวตี ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อภารกิจลุล่วงไปแล้ว ภารกิจต่อไปคืออะไร
“ศิริกัญญา” จับตาไปที่การ “แบ่งงาน” ในกระทรวงการคลัง จะแบ่งกรมรับผิดชอบกันอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะดูกรมจัดเก็บรายได้ คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร
ครม.เศรษฐา 1 มีความแตกต่าง นายเศรษฐา ดูกรมศุลกากรกรมเดียว ส่วนที่เหลือ กระจายกรมสรรพากรไปให้ นายจุลพันธ์ และ กรมสรรพสามิตไปให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยคลังอีกคน รอบนี้แบ่งงานกันใหม่ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วจะแบ่งงานออกมาอย่างไร
“ดิฉันเก็งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคยเป็นบอร์ดของบริษัทมหาชนหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่สำคัญบริษัทมหาชนเหล่านั้น เป็นบริษัทที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น ไม่ว่ารัฐวิสาหกิจอย่างบริษัท ปตท. หรือบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นบางส่วน เช่น บริษัท บางจาก กลุ่มไทยออยล์ คงจะต้องให้รัฐมนตรีคลังเป็นคนดูสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจด้วยตัวเองหรือไม่”
Background ของรัฐมนตรีคลังน่าจะมาในทางของพลังงานด้วย ก็อาจจะเป็นประโยชน์กับทางรัฐบาลในการคิดแก้ปัญหารื้อโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ รวมถึงภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน
“ศิริกัญญา” ชี้เป้าให้ “รัฐมนตรีคลังคนใหม่” คุมกรมหลักในการจัดเก็บรายได้ด้วยตัวเอง เพราะฐานะทางการคลังของประเทศกระท่อนกระแท่นอยู่ ณ วันนี้ รวมถึงหลังจากมีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ข้าราชการกระทรวงการคลังเอ่ยปากออกมาว่า จำเป็นต้องมีความพยายามจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น ขยายฐานภาษี หรือ จัดเก็บภาษีตัวใหม่ ๆ
“เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ยากมาก จึงจำเป็นต้องมีคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ เพื่อชดเชยส่วนที่รัฐบาลได้ใช้งบประมาณไปอย่างหมดเปลือง” ดังนั้น จึงต้องการคนที่กล้าหาญทางการเมือง เพราะการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ ๆ นักการเมืองส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะทำ
“ศิริกัญญา” เปิดจุดแข็ง “ขุนคลังคนใหม่” ว่า การเป็นผู้บริหารของบอร์ดบริษัทมหาชนหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ นำมาใช้ปรับรื้อโครงสร้างพลังงานไทย “อีกตำแหน่งของท่าน คือ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจดูเรื่องโครงสร้างพลังงาน ทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน รวมถึงมาตรการความช่วยเหลือภาษีสรรพสามิตน้ำมันหรือจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น Carbon Tax”
แม้กระทั่งการมีความรู้ ความเข้าใจตลาดทุน ในฐานะที่เคยเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็อาจจะเป็นข้อดี หรือ จุดแข็งของรัฐมนตรีคลังคนใหม ส่วน “จุดอ่อน” เธอขอสงวนท่าทีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ก่อน “รัฐมนตรีคลังคนใหม่” จะได้แสดงฝีมือ
“ต้องยอมรับว่า เรื่องการคลังค่อนข้างช็อกและต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาก จึงยังไม่ตัดสินว่า คุณพิชัยจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการคลังหรือไม่ ต้องเปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ ให้ทำงานก่อน”
ที่สำคัญ “ศิริกัญญา” บอก “ข้อระวัง” ระหว่างรัฐมนตรีคลังกับนายกรัฐมนตรี อะไรคือ “จุดเปราะบาง” ที่จะนำไปสู่ “จุดแตกหัก” โดยปกติแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นคนให้ข้อตักเตือนและข้อเสนอแนะ เวลารัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีตัดสินใจนโยบาย หรือ โครงการต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อฐานะทางการคลังของประเทศอย่างไรบ้าง
ต้องคอยเตือนสติกัน ต้องคอยกระตุกแขนเสื้อกันว่า โครงการนี้อย่าเพิ่งทำ เพราะใช้งบประมาณมากเกินไป หรือ โครงการนี้ชะลอไว้ก่อนเพราะว่า ถ้าลงทุนตอนนี้ต้องไปแย่งเงินทุนของบริษัทเอกชนที่ต้องระดมทุนในตลาดหุ้นกู้ “ต้องเป็นคนที่คอยว่ากล่าวตักเตือนกันและกันอยู่ตลอดเวลา จุดแตกหักก็คือว่า ไม่มีใครเตือนใคร พาคลังประเทศลงเหว หรือ เตือนแล้วไม่ฟังกัน สุดท้ายทำงานด้วยกันไม่ได้ในที่สุด”
“ศิริกัญญา” ตั้งข้อสังเกตในการปรับครม.บางตำแหน่ง job description-mission ยังไม่ชัด เพราะ หลายคนยังมองไม่ค่อยชัดว่า ภารกิจและหน้าที่ คือ อะไร เช่น นายจักรพงษ์ แสงมณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะมาดูเรื่องงบประมาณอย่างไร
“คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังไม่มั่นใจว่า คุณสุชาติมีความสนใจในเรื่องของการค้าทั้งภายในประเทศหรือต่างประเทศในหัวข้อไหน” แม้กระทั่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ยังมองเห็นนายสมศักดิ์เป็นนักการเมืองมืออาชีพมากกว่าจะเป็นนักบริหาร
“อีกเรื่องที่อาจจะไม่ใช่เพียงคุณพิชัยคนเดียว ในครม.เศรษฐาเอง มีคนที่เป็นคนของคุณเศรษฐามากน้อยแค่ไหน ดูเหมือนแต่ละคนจะเป็นคนที่มีสายสัมพันธ์มาอย่างยาวนานกับพรรคเพื่อไทย ย้อนกลับไปสมัยไทยรักไทยด้วยซ้ำ ยังไม่เห็นใครที่มาจากฟากฝั่งธุรกิจ เป็นคนสนิท ลูกน้องเก่าที่เคยทำงานร่วมกับคุณเศรษฐามาร่วมรัฐบาลนี้เลย ดังนั้น โอกาสที่จะทำงานเข้าขากันได้ควรต้องลุ้นอีกว่าจะเป็นคนที่เห็นหน้า มองตาแล้วรู้ใจกันหรือไม่”
“ต้องทำงานใกล้ชิด มองตารู้ใจ เป็นคนที่คุณเศรษฐาเลือกมาเองกับมือ เชื่อมือว่า คนนี้ทำงานด้วยกันได้”
“ศิริกัญญา” คาดหวังกับรัฐมนตรีคลังคนใหม่และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ว่า จะมาทำฟังก์ชันที่ไม่เคยมีใครทำ เช่น ให้ข้อเสนอแนะ หรือ ตักเตือน ท้วงติง ในเวลาใช้งบประมาณ หรือ ทำนโยบายอะไรที่กระทบกับการคลังของประเทศอย่างหนัก
“คนที่จะมาทำในด้านนี้ ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการคลัง ซึ่ง ณ วันนี้ ยังไม่ค่อยมั่นใจ แต่ยังต้องให้โอกาสคุณพิชัยทำงานก่อน แต่รอบนี้เราจะใช้สิทธิ์เต็มที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีฮานีมูนพีเรียด” ขุนคลังเงา ทิ้งท้าย.