‘เรืองไกร’ ร้อง ‘ป.ป.ช.’ สอบ โครงการ Digital Wallet ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่

“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ร้อง “ป.ป.ช.” สอบ “ครม. และ จนท.รัฐ” เห็นชอบโครงการ Digital Wallet เป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย และทุจริตเชิงนโยบาย แอบแฝงเอื้อ ประโยชน์กลุ่มทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่
วันที่ 28 เม.ย. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการติดตาม โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่คณะรัฐมนตรีพึ่งมีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 นั้น ในเอกสารของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้ในการพิจารณาประกอบการลงมติของคณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตหลายประเด็นที่ควรตรวจสอบ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 มีหลายหน่วยงานเสนอความเห็นหรือข้อสังเกตในลักษณะที่ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวยังมีปัญหาหลายประการ และอาจจะไม่เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ร่วมกันออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากหนังสือที่ ป.ป.ช. เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ กับข้อเสนอแนะและข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) กรณี จึงมีเหตุที่ควรขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังนี้

  • กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงจัดให้มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์โดยเคร่งครัด หรือไม่
  • กระทรวงการคลังได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินโดยการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท โดยการมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการ ใช่หรือไม่ และเป็นการดำเนินการที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์และในหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของ ธ.ก.ส. ตามพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และกระทรวงการคลังกับ ธ.ก.ส. จะต้องจัดทำแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ ประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในรายละเอียดก่อนดำเนินโครงการตามนับมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย หรือไม่
  • กระทรวงการคลังมีการใช้แหล่งเงินงบประมาณประจำปีเป็นแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขทางการคลังและกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือไม่ การดำเนินโครงการในวงเงิน 172,300 ล้านบาท สอดคล้องกับขอบเขตวัตถุประสงค์และกฎหมายการจัดตั้งหน่วยงานที่จะดำเนินการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ รายละเอียดโครงการดังกล่าวได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการ หรือไม่ การจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการฯ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น หรือไม่
  • คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการ DW ต่อไป หรือไม่ หากไม่มีการมอบหมายก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะลงมติ จะถือว่า คณะรัฐมนตรีเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
  • จากข้อสังเกตของ สพร. แสดงว่า คณะรัฐมนตรีลงมติไปโดยที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการออกแบบและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้จ่ายและการชำระเงินที่เกี่ยวข้องกับ Open Loop ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ การลงมติของคณะรัฐมนตรีจะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ในวันนี้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ไปถึง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีความพร้อมที่จะทำ จริงหรือไม่ มีการฝ่าฝืนกฎหมายและเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย หรือไม่ และมีเจตนาแอบแฝงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือไม่ นอกจากนี้มีการป้องกันการทุจริตตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หรือไม่ และครม.รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดที่ร่วมกันทำโครงการนี้จะมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่”นายเรืองไกร กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password