“หมออ๋อง”มาตามนัด! บุก “ทำเนียบฯ”ทวงกม.ค้าง 31 ฉบับ ยันไร้วาระซ่อนเร้น-กดดัน

มาตามนัด!!! “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ บุกทำเนียบฯ ทวงกม.ค้าง 31 ฉบับ ยันไม่มีวาระซ่อนเร้น-กดดัน หวังปรับปรุงการทำงานร่วมนิติบัญญัติ-บริหาร พร้อมจี้รมต.เลี่ยงกระทู้ แจงให้ชัดหวั่นผิดข้อบังคับ ยืนเก้อไม่มีรองเลขาฯนายกฯต้อนรับ ด้านผอ.กองงานฯ เผยจังหวะหนังสือตอบรับสวนทาง ทำกระบวนการขลุกขลัก

วันที่ 1 มี.ค.2567 เวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบตัวแทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และทวงถามร่างกฎหมายการเงินที่ยังค้างอยู่ 31 ฉบับ

โดย นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้ทำหน้งสือประสานมาแล้วสองครั้ง ยืนยันว่าไม่ใช่การมาบุกตามที่เป็นข่าว แต่เป็นการมาประชุมร่วมกันเพื่อติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมาย เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดว่าแต่ละร่างอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว จึงอยากมาขอหารือถึงการทำงานร่วมกัน ยืนยันว่าเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีโอกาสหารือกัน และมองว่าการที่รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู่ในรัฐสภา ทางสำนักเลขาธิการนายกฯก็ต้องทราบเหตุผล เพราะในบางครั้งเอกสารที่แจ้งมายังสภาก็ไม่ได้ระบุชัดเจน

เมื่อถามว่า ทางพรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มากดดันให้เขาเซ็น แต่มองว่าการทำงานร่วมกันมีเรื่องต้องปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คาดหวังว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่าวรวดเร็ว เพราะเป็นการพูดคุยครั้งแรก และเข้าใจในฝั่งรัฐบาล แต่ถ้าไม่พูดคุยกันเลย และตอบโต้กันผ่านหนังสืออย่างเดียวก็จะไม่มีโอกาสปรับปรุงการทำงานร่วมกัน

เมื่อถามว่า การที่รองประธานสภาต้องมาเอง แสดงว่าวิปที่ประสานกับรัฐบาลทำงานไม่ตอบโจทย์ใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่วิปรัฐบาล แต่ตนมีหน้าที่ดูแลการตรากฎหมายโดยตรง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะแม้แต่ร่างของพรรคภูมิใจไทยเองก็ยังค้างอยู่

เมื่อถามต่อว่า ทางประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ท่านยังไม่มีความเห็น เพราะการดูแลเรื่องกฎหมายเป็นหน้าที่ตน ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ปกติเพื่อช่วยให้กระบวยการนิติบัญญัติเป็นไปอย่างถูกต้อง

ถามต่อว่า ฝ่ายการเมืองมองว่านายปดิพัทธ์ ทำในนามส่วนตัวมากกว่า นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ตนก็ยืนยันในเจตนา เพราะมีหลายร่างกฎหมายที่ยังไม่เข้า อาทิ ร่างของ ครม.ที่สุดท้ายต้องใช้ร่างของ ส.ส.อุ้ม ถ้าสภาทำได้เพียงรอร่างของรัฐบาลก็จะผิดหลักการสากล

ถามต่ออีกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีธรรมเนียบที่รองประธานสภาต้องมาตามกฎหมายเองแบบนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แล้วไม่ดีตรงไหน ตนมองว่าทำเนียบกับสภาควรใกล้ชิดกัน ถ้าทำงานร่วมกันบ่อยๆ ความไม่เข้าใจกันก็จะลดลง ไม่คิดว่าต้องวางตัวห่างกัน ฝ่ายบริหารเองก็มาที่สภาบ่อย ถ้าสภาจะมาเยี่ยมฝ่ายบริหารบ้างก็ไม่เห็นจะผิดธรรมเนียมอะไร

“ขั้นตอนทางธุรการต้องเนี๊ยบกว่านี้ ต้องแจ้งชัดเจนว่าติดภารกิจสำคัญอะไร อย่างไร ตรงนี้ต้องมีโอกาสสะท้อนให้ฟัง ไม่ใช่ตอบโต้ผ่านสื่อ ต้องมีเวทีหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเรื่องกฎหมาย แน่นอนว่าผมไม่ได้ไร้เดียวสา เรื่องจังหว่ะการเมืองที่จะทำให่ร่างกฎหมายไหนเข้าพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างน้อยต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาว่าติดเรื่องอะไร” นายปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อซักว่า ไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่มี รีบคุยรีบกลับ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมองว่าไม่มีมารยาททางการเมืองนั้น ตนขอกลับว่าการมาคุยเพื่อทำงานร่วมกันเป็นเรื่องผิดมารยาทตรงไหน ตนเข้ามาปิดทำเนียบหรือ หรือมาไม่สุภาพ ยืนยันว่ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และขอความร่วมมือเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสร็จสิ้น นายปดิพัทธ์ได้เดินเท้าต่อมายังบริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อรอพบกับตัวแทนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) โดยระหว่างที่ยืนรออยู่หน้าตึกบัญชาการ 1 เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบรัฐบาล ได้พยายามติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ว่าใครจะลงมาพูดคุย ทำให้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งยืนรออยู่พูดว่า “สำนักงานเลขาธิการนายกฯ มีกี่คน ไม่อยู่สักคนเลยเหรอครับ”

จากนั้น รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้โชว์ภาพเอกสารที่ส่งมายังสำนักเลขาธิการนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจะมีการมาสอบถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายต่อสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที คณะของ นายจงเจริญ สุวรรณรัตน์ ผอ.กองงานประสานงานทางการเมืองสำนัก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มาพบกับนายปดิพัทธ์ พร้อมกับเชิญขึ้นไปพูดคุยที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2

ต่อมาเวลา 14.00 น.นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การมาที่ทำเนียบฯ ในวันนี้ เพื่อมาดูกระบวนการทำงานทางธุรการ ว่าเมื่อมีการส่งร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินมาแล้ว มีกระบวนการอย่างไร เพราะเวลาบอกว่ารอความเห็นจากหน่วยงานมันครอบคลุมทุกอย่าง รวมถึงมาสอบถามเรื่องการการตอบกระทู้ถาม ที่เป็นประเด็นว่ารัฐมนตรีไม่มาตอบ แม้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ระบุว่า หากรัฐมนตรีไม่มาตอบต้องชี้แจงเป็นหนังสือ บางท่านก็ชี้แจงละเอียด แต่บางท่านก็ชี้แจงไม่ละเอียดแค่บอกว่าติดภารกิจ ดังนั้น ต่อจากนี้อยากให้ชี้แจงชัดเจนขึ้น อีกประเด็นคือเรื่องความเดือดร้อนประชาชนที่ส่งมาที่ทำเนียบฯ หลังจากมีหารือในการประชุมสภาฯ ตรงนี้เราจะติดตามได้อย่างไร เนื่องจากประธานสภาฯ ร้อนใจว่าเรื่องหารือมีการตอบรับน้อย และจะสื่อสารกับประชาชนอย่างไร

ด้าน นายจงเจริญ กล่าวว่า รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหนังสือมาถึง สลน.โดยมีการพิจารณาแล้ว มีการมอบหมายตนไปพบรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่รัฐสภา ตนจึงอยู่ระหว่างรอว่าจะให้ไปพบเมื่อไหร่ เป็นจังหวะหนังสือที่ส่งสวนทางกันจึงอาจดูขลุกขลักในวันนี้

จากนั้นเวลา 14.35 น.นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า วันนี้ตนไม่ได้พบกับผู้บริหารรัฐบาล เพียงแต่พบกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งได้รับฟังและเข้าใจว่าร่างกฎหมายต้องรับฟังความเห็นหน่วยงานต่างๆ จำนวนเยอะ แต่อยากให้เพิ่มรายละเอียดในเอกสารที่ตอบกลับสภาฯ ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นคำว่ารอหน่วยงาน ว่ารัฐบาลส่งไปกี่หน่วยงาน มีหน่วยงานไหนตอบแล้วและยังไม่ตอบมา เพื่อทางสภาฯ จะได้เห็นความชัดเจน รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก็จะได้ประเมินผลฝ่ายกฎหมายของตัวเอง

ส่วนปัญหาที่รัฐมนตรีไม่ตอบกระทู้ สิ่งที่ตนวิจารณ์คือหนังสือที่ตอบกลับจากรัฐมนตรีที่บอกว่าติดภารกิจไม่สามารถตอบกระทู้ได้ ตามข้อบังคับต้องเขียนว่าเป็นภารกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่ผ่านมาที่ทั้งรัฐมนตรีที่ทำได้ดีและไม่ดี บางคนตอบเพียงว่าติดภารกิจ บางคนก็ลงรายละเอียด ตนมองว่าการไม่บอกรายละเอียดว่าเป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นการทำผิดข้อบังคับ จึงจำเป็นต้องรายงานต่อสาธารณะ และจากนี้ก็ได้ประสานว่าการทำหนังสือขอให้ทำโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ การหารือสองประเด็นวันนี้เรียกว่าเขายอมรับข้อเสนอแต่จะทำได้หรือไม่คิดว่าเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะมาสอบถามความคืบหน้ากฎหมายที่ทำเนียบอีกหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า “เดี๋ยวค่อยว่ากัน”

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password