นายกฯ แถลง เวที UN มุ่งมั่น เปลี่ยนการเมืองให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อน SDGs ลดเหลื่อมล้ำ
‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกฯ ของประเทศไทย กล่าวถ้อยแถลงเวทีผู้นำฯประกาศความมุ่งมั่น 6 ข้อ ขับเคลื่อน ‘SDGs -ยกระดับคุณภาพชีวิตปชช. เปลี่ยนแปลงการเมืองให้เข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำคนไทยเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ
เมื่อเวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) วันที่ 19 ก.ย. ที่ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals Summit 2023) โดยนายกฯ กล่าว รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกฯที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่ง สำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับSDGs ภายในปี ค.ศ. 2030
นายกฯ กล่าวอีกว่า มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้ 1.ภายในทศวรรษนี้ เราตั้งใจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เข้มแข็ง รัฐบาลของตนจะมีบทบาทเชิงรุกที่สร้างสรรค์บนเวทีโลก ผ่านความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายที่จะบรรลุถึงเป้าหมาย
2.ประชาคมระหว่างประเทศต้องสรรหาแหล่งเงินทุน จัดการกับช่องว่างด้านเงินทุนสำหรับ SDG เพิ่มการลงทุนเพื่อบรรลุSDG และแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ รวมถึงพันธบัตรสีเขียวและผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล 3.สร้างความเสมอภาคในระบบการเงินระหว่างประเทศ ดังนั้น ไทยจึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการยูเอ็นให้มีการปฏิรูปและอัดฉีดเงินทุนกระตุ้น SDG 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจนถึงปี 2573 4.ในระดับชาติ ไทยได้ออกพันธบัตรสีเขียว (Green Bond) 2 ชุด ซึ่งช่วยระดมเงินทุนได้ถึง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกและเพื่อสังคม รวมทั้งได้จัดทำมาตรฐานสำหรับการประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
นายกฯกล่าวอีกว่า 5.บริษัทในไทยกว่า 100 บริษัทที่อยู่ใน Global Compact Network Thailand ได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนมูลค่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ SDG ภายในปี 2573 และ 6.ในปีหน้า เราตั้งเป้าจะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดพันธบัตรสีเขียว โดยเพิ่มแรงจูงใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลของตนให้คำมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่นภายในปี 2573 รวมทั้งจัดให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้เหลือต่ำกว่า0.25% ในด้านสิ่งแวดล้อม เรามีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 40% ภายในปี 2583 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี 2608.