‘วันนอร์’ นัดโหวตนายกฯ 22 ส.ค. แจงไม่มีข้อบังคับแคนดิเดตนายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์
“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” นัด สมาชิกวุฒิสภา โหวตนายกฯ รอบสาม 22 ส.ค. ยกข้อบังคับการประชุมไม่บังคับแคนดิเดตนายกฯ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เทียบโหวตนายกฯเมื่อปี 2562
วันที่ 16 ส.ค.2566 ที่ รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีรัฐสภามีมติห้ามเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือว่าสิ่งที่ทางรัฐสภาประชุมไปแล้วเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ขัดต่อสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปให้พิจารณาว่าระหว่างข้อบังคับกับรัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งกันหรือไม่อย่างไร ทำให้สิ่งที่สภาทำไปดำเนินการต่อไปได้
โดยวันที่ 17 ส.ค. เวลา 14.00 น. จะให้ฝ่ายกฎหมายสภา และฝ่ายที่เกี่ยวกับประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกฯ ได้พิจารณารายละเอียด ระเบียบวาระที่ค้างอยู่ และกระบวนการเลือกนายกฯ จากนั้น ตนจะนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา กับสภาทั้งสองฝ่ายเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งที่ตนกำหนดไว้แล้วน่าจะออกระเบียบวาระได้หลังฝ่ายกฎหมายให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว และจะเชิญสมาชิกรัฐสภา ประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ซึ่งตนได้หารือประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้ทบทวนมติของที่ประชุมรัฐสภา ที่ให้การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบสองเป็นการเสนอญัตติซ้ำ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลก็ต้องหารือต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อบังคับ และจะทบทวนอย่างไรต้องอยู่ในกรอบคำวินิจฉัยศาล และต่อข้อถามอีกว่า
การประชุมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค.นี้ จะเรียบร้อยใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะดำเนินการให้เรียบร้อยมากที่สุด แต่จะจบวันที่ 22 ส.ค.นี้ หรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา เมื่อซักว่าในฐานะประธานรัฐสภา เห็นควรหรือไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ ต้องเข้ามาชี้แจง และแสดงวิสัยทัศน์ด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถกำหนดได้ แต่รัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ ไม่ได้กำหนดก็ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะเห็นสมควรอย่างไร
ถามว่า ข้อเรียกร้องของสมาชิกส่วนใหญ่ สมเหตุสมผลหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผู้ที่ถูกเสนอชื่อว่าอยู่ที่ไหน หากอยู่ที่นี่และพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่หากเขาไม่อยู่ที่นี่ก็คงไม่สะดวก เพราะในปี 62 ก็ เราก็ได้พิจารณาในข้อนั้น รวมถึงได้สอบถามฝ่ายกฎหมายว่า ตอนที่ร่างข้อบังคับในการเลือกนายกฯ ทำไมจึงไม่ได้กำหนดเหมือนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับการชี้แจงเบื้องต้นว่า เดิมได้มีการกำหนดว่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่ภายหลังผู้ร่างข้อบังคับได้มีการตัดออกไป เพราะเห็นว่าอาจจะเป็นบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมของรัฐสภาที่ถูกเสนอชื่อเข้ามา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดว่าสามารถเสนอบุคคลภายนอกได้ และเราจะนำข้อกฎหมายนี้จะมีการนำเรื่องนี้พูดคุยในการหารือวิป 3 ฝ่ายด้วย อยากให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่อยากให้มีการกังขา หรือประเด็นอะไรต่างๆที่ยืดเยื้อกัน