“วันนอร์” นั่ง ปธ.สภาฯ “ก.ก.-พท.” ได้รอง เปิดประวัติ อดีตสส.9สมัย คร่ำหวอดการเมือง

ปิดดีลลงตัว! เสนอ “วันนอร์” นั่ง พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานคนที่ 1 พรรคเพื่อไทย รองประธานคนที่ 2 ดัน “พิธา” เป็นนายกฯ

วันที่ 3 ก.ค.66 เวลา 19.45 น. ที่ โรงแรมแลงคาสเตอร์ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมแถลงเรื่องตำแหน่ง ประธานสภาฯ โดยได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะเสนอชื่อของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ “วันนอร์” หัวหน้า พรรคประชาชาติ นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ส่วน พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานคนที่ 1 พรรคเพื่อไทย รองประธานคนที่ 2 และ สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทางด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า พรรคจะไม่มีการเสนอชื่อคนในพรรคเพื่อแข่งชิงเก้าอี้กประธานสภาฯ และมั่นใจว่าคนของพรรคอื่นจะไม่เสนอชื่อของ ส.ส.เพื่อไทย แข่งกับพรรคอื่นอย่างแน่นอน

โดย ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้

1.เสนอชื่อ นาย วันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ทั้งนี้พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้

2.บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อตกลง MOU ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2566

3.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และ การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และ ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

4.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่าข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566.

สำหรับประวัติ “วันมูหะหมัดนอร์ มะทา” เป็น นักการเมืองชาวมุสลิม หัวหน้า พรรคประชาชาติ แกนนำกลุ่มวาดะห์ อายุ 79 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานรัฐสภา รมช.มหาดไทย รมว.คมนาคม 2 สมัย และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นอดีต ส.ส. 9 สมัย เคยสังกัด พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และ พรรคไทยรักไทย

เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2487 ที่ จ.ยะลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อ.เมือง จ.ยะลา และ จบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2517

เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัด พรรคกิจสังคม จากนั้น ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และ พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และ เป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา ก่อนจะย้ายไปเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย จากการยุบรวม พรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือน ม.ค.ปี 2545 และนาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ต่อมานาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราชระยะหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นาย วันมูหะหมัดนอร์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ต่อมา ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 ได้เข้าร่วมกับ พรรคประชาชาติ เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สมัยที่ 10 อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่ พรรคประชาชาติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2563 ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. แต่ยังคงเป็น หัวหน้าพรรคประชาชาติเช่นเดิมจนปัจจุบัน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password