จับตา! ภารกิจเร่งด่วน “หญิงแกร่ง” เล็งแก้ 4 ปัญหาเผือกร้อน รัฐบาล “ก้าวไกล”

“ก้าวไกล” ผนึกพรรคร่วมรัฐบาล ตั้ง “Transition Team” เปลี่ยนผ่านรัฐบาล วางแนวทางแก้ปัญหา เดินหน้าแก้ “เผือกร้อน” 4 เรื่อง สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ,ภาษีน้ำมันดีเซล ,ค่าแรงขั้นต่ำ และ ลดค่าไฟฟ้าอีก 10 สตางค์ เตรียมเดินสายพบภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างความเชื่อมั่นนโยบาย

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล บุคคล ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง คนใหม่ และ เป็น “สุภาพสตรี” คนแรกของ กระทรวงการคลัง เปิดเผย ถึงการ จัดตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือ “Transition Team” โดย กำหนดประเด็นสำคัญในการเตรียมการแก้ปัญหา และเดินหน้าโครงการต่างๆที่เป็น “เผือกร้อน” มาจากรัฐบาลก่อนหน้า ว่า พรรคก้าวไกล และ พรรคร่วมที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้มีการตกลงร่วมกันที่จะตั้งทีมในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition team) ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากที่มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน

ทั้งนี้การตั้ง Transition team เพื่อให้พรรคร่วมที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น การทำนโยบายต่างๆของพรรคร่วมมีผลต่อทุกพรรคหมดเพราะรัฐบาลใช้งบประมาณร่วมกันที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องพูดคุยกันให้จบว่าจะมีนโยบายอย่างไร

“การตั้งทีมเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะช่วยให้พรรคร่วมสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน หลายๆเรื่องไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ต้องเป็นเรื่องการทำงานร่วมกัน อย่างพรรคเพื่อไทยที่เราชนะการเลือกตั้งมาด้วยกัน แต่เสียงของทั้งสองพรรคต่างกันไม่เยอะมากจึงต้องมีการเจรจาพูดคุย เจรจาประนีประนอม เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น” ศิริกัญญา กล่าว และ ว่า

ในการทำงานร่วมกันของพรรคการเมือง ที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบา ลนอกจากการทำงานในทางการเมือง ยังต้องเตรียมพร้อมที่จะทำงานแก้ปัญหาในเรื่องปัญหาสำคัญๆ ที่ส่งต่อมาจากรัฐบาลปัจจุบัน ที่ถือว่าเป็นเผือกร้อน อย่างน้อย 4 เรื่องได้แก่

1.การเจรจาสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐบาลกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัณ (เอกชนคู่สัญญา) ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจในเรื่องการแก้ไขสัญญา

2.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ซึ่งในเรื่องนี้เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้ว่าจะทำใน 100 วันแรก โดยนโยบายนี้จะผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ โดยพรรคมีมาตรการรองรับช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้แก่ การลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถนำค่าจ้างไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และปรับลดภาษีนิติบุคคลให้กับ SME จาก 15% เหลือ 10% และการลงทุนในเครื่องจักรสามารถนำมาลดภาษี 1.5-2 เท่า

3.การดูแลราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งตามระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่กระทรวงการคลังลดภาษีอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยเรื่องของภาษีน้ำมันดีเซล เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาดูแลเช่นกันเพราะหากมีการปล่อยให้น้ำมันดีเซลปรับขึ้นไป 5 บาทต่อลิตรจะทำให้เศรษฐกิจช็อกได้ ซึ่งแนวทางคือควรมีการใช้การดูแลจากกองทุนน้ำมัน และค่อยๆปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ และดูมาตรการในระยะต่อไปว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการที่ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

และ 4.เรื่องค่าไฟฟ้า แม้ว่าแนวโน้มราคาลดลงจาก 4.70 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน มาอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วยสำหรับค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นไปตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลได้ให้ข้อคิดเห็นมาก่อนหน้านี้ว่าต้องปรับราคาลงตามแนวโน้มของราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง รวมทั้งการเพิ่มการนำเอาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตามก้าวไกลมองว่า ยังสามารถลดค่าไฟลงได้อีกประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งมาจากการบริหารหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยออกพันธบัตรระยะยาว และรัฐบาลจะไปช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนในส่วนนี้ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ไม่เช่นนั้น ก็จะมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาใช้หนี้ที่ กฟผ.แบกรับภาระค่า FT กว่า 2 แสนล้านบาทซึ่งจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ได้เตรียมที่จะไปหารือกับภาคส่วนต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านนโยบาย และการทำงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ได้หารือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมจะไปหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย รวมทั้งจะหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงบประมาณ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นเพื่อใช้ประกอบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายหลังจากที่เข้ามาบริหารประเทศจะสามารถทำงานได้ทันที

สำหรับการดึงการลงทุน และการหารายได้เข้าประเทศ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในการเจรจาการค้า ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเจรจาการลงทุน เช่น เรื่องของเขตเสรีการค้า (FTA) การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ส่วนเรื่องของการปรับบทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พรรคก้าวไกล ไม่ได้จะยกเลิกการส่งเสริมการลงทุน หรือ ยกเลิกบีโอไอ แต่จะปรับมาตรการและการสนับสนุนบางส่วน เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมของบีโอไอ โดยจะลงประมาณ 10% จากเดิมที่มีการเว้นภาษีในส่วนนี้ให้กับนักลงทุน 8 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือจะปรับลดลงปีละ 8 พันล้านบาทต่อปี และปรับการให้บีโอไอให้เป็นมาตรการสนับสนุน และดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุดตรงเป้ามากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

“การลดหย่อนภาษีในปัจจุบันควรดูในอุตสาหกรรมที่ตรงเป้าหมาย และมาตรการเรื่องภาษีที่มีการลดหย่อนภาษี 8 – 13 ปี ก็ไม่ใช่รูปแบบที่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันเพราะต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการลงทุนอื่นๆที่ตอบโจทย์การลงทุนที่เป็นแพ็กเกจการลงทุนที่ต้องดูความต้องการนักลงทุนแต่ละรายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนด้วย”

โดยโอกาสการลงทุนของอุตสาหกรรมสำคัญของไทยในขณะนี้ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมชิพต้นน้ำ ที่ขณะนี้ไทยมีโอกาสรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้จากปัญหาความขัดแย้งทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯและจีน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ในการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตในส่วนนี้โดยจะต้องรักษาสถานะความเป็นกลางของประเทศไทยไว้ให้ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์

สำหรับการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero Base Budgeting) นั้นคาดว่าจะเริ่มทำได้จริงๆในปีงบประมาณ 2568 ยังไม่สามารถทำได้ในงบประมาณปี 2567 แต่งบประมาณในปี 2567 จะต้องเข้ามารื้องบประมาณ และจัดทำงบประมาณออกมาให้เร็วเนื่องจากตามปฏิทินงบประมาณในปี 2567 มีความล่าช้ากว่าปฏิทินงบประมาณปกติ ซึ่งพยายามที่จะทำออกมาให้ได้ภายในไตรมาส1 ปี 2567 ส่วนการทำงบประมาณแบบ Zero Base Budgeting คาดว่าจะเริ่มได้จริงๆในปีงบประมาณ 2568 เนื่องจากต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมากในการทำงาน และการประเมินความคุ้มค่าของงบประมาณเป็นหลัก โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีการทำงบประมาณในลักษณะนี้อยู่แล้ว

แต่ส่วนที่ยากคือเรื่องการประเมินความคุ้มค่าของงบประมาณที่ผูกพันหลายๆปีงบประมาณนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ ควรมีการต่อโครงการเดิมออกไปหรือไม่ ซึ่งต้องมีการประเมินความคุ้มค่าด้วย โดยเมื่อดูจากรายละเอียดงบประมาณต่างๆแล้วมีงบประมาณที่สามารถบริหารจัดการได้เพื่อให้ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณางบประมาณส่วนนี้ให้รอบคอบ สอดคล้องกับเป้าหมายด้านนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาประเทศระยะยาว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password