สบน.แจงเหลือ ‘เพดานกู้’ 1 ลลบ. รอให้รัฐถลุง! – อิงวาระ 150 ปีคลัง ผุด พธบ.ออมทรัพย์ พ่วงกู้ปกติรวม 3.53 หมื่นลบ.

สบน.ออกพันธบัตรฯรุ่นพิเศษ 150 ปี กระทรวงการคลัง และรุ่นปกติ ครั้งแรกของปี 2568 รวม 35,300 ล้านบาท เผย! หากรัฐบาลหวังกู้เงินมาใช้ผุดโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำได้แต่ต้องออกกฎหมายเฉพาะเหมือนยุคสู้โควิด-19 ระบุ! สัดส่วนหนี้สาธารณะยังต่ำกว่าเพดานเต็มอีกราว 5% มีเงินเหลือๆ ให้กู้อีกราว 1 ล้านล้านบาท

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าวเปิดตัว พันธบัตรออมทรัพย์ “รุ่น 150 ปี กระทรวงการคลัง” ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษ ฉลองในโอกาสที่กระทรวงการคลังมีอายุ 150 ปี โดยเปิดให้จองซื้อเพียง 300 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค. 2568 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กำหนดอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยจ่าย ร้อยละ 3.15 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน กำหนดราคาขายหน่วยละ 1 – 2 ล้านบาท มีอายุ 15 ปี  กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์ซื้อ เป็นบุคคลธรรมดาถือสัญชาติไทย การชำระเงินซื้อผ่านเคาน์เตอร์ ชำระเป็นเงินสด หรือหักเงินบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ใช้วิธีจัดสรรการจองซื้อ First-Come, First-Served (มาก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน) พร้อมกันนี้ ยังเปิดให้ผู้ซื้อได้สิทธิ์เป็นเจ้าของ “รูปจำลองใบพันธบัตรที่ระลึก” ออกแบบเป็นพิเศษ จำหน่ายเฉพาะในงาน จำนวนเพียง 150 ใบ เท่านั้น

“กรณีในวันสุดท้าย หากยังมีพันธบัตรฯเหลืออยู่ สบน.จะเปิดขายโดยไม่จำนวนวงเงินแค่เพียง 1 ล้านบาทต่อราย ใครอยากซื้อเพื่อการลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ส่วนตัวมั่นใจว่าพันธบัตรฯจะขายได้หมดก่อนถึงวันสุดท้ายของการจัดงาน 150 ปี กระทรวงการคลัง เนื่องจากวงเงินมีไม่มาก ขณะที่ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยมีสูง และความต้องการของนักลงทุนก็มีสูงเช่นกัน” ผอ. สบน. ระบุ

สำหรับ พันธบัตรที่กระทรวงการคลังกำหนดออกตามปกติ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2568 โดยในปีนี้ สบน.วางแผนจะออก 2-3 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกของปีนี้ จะออกพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 35,000 ล้านบาท แยกเป็นการจำหน่ายฯ ผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อกระจายการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยปรับให้ผู้ลงทุนทยอยซื้อได้ด้วยวงเงินจำกัด 5 ล้านบาทต่อครั้ง และสามารถซื้อได้วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย

ยกตัวอย่าง นาย ก ต้องการซื้อพันธบัตรวงเงิน 20 ล้านบาท นาย ก จะต้องกดซื้อพันธบัตรบนวอลเล็ต สบม. จำนวน 4 ครั้งๆ ละ 5 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขการจำหน่าย ครั้งที่ 1 วงเงิน 10,000 ล้านบาท รุ่นอายุและอัตราดอกเบี้ย 7 ปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) ผลตอบแทนดอกเบี้ยร้อยละ 2.65 ต่อปี วันจำหน่าย (เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป วันที่ 8-16 พ.ค. ผู้มีสิทธิ์ซื้อ บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วงเงินขั้นต่ำ – ขั้นสูง เริ่ม 100 บาท – 20,000,000 บาท วิธีการจัดสรร First-Come, First-Served (มาก่อนได้รับสิทธิ์ก่อน)

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 6 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย วงเงิน 25,000 ล้านบาท รุ่นอายุและอัตราดอกเบี้ย 7 ปี (จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) ผลตอบแทนร้อยละ 2.65 ต่อปี วันจองซื้อ 13-15 พ.ค. 2568 วงเงินขั้นต่ำ-ขั้นสูง 1,000 บาท – ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง (หน่วยละ 1,000 บาท) ช่องทางการจำหน่าย Internet Banking Mobile Banking และเคาน์เตอร์ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 6 แห่ง วิธีการจัดสรร Small Lot First (การทยอยจัดสรรฯ)  

ส่วนกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีแนวคิดจะกู้เงินมาใช้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โดยอาจขอขยายเพดานหนี้สาธารณะของประเทศเกินร้อยละ 70 ของจีดีพีนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพชร กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่ามีแผนการกู้เงินเพิ่มเติมอย่างไร หากอยู่นอกเหนือจากการกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ก็จะต้องออกกฎหมายเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 172 ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะนำเงินมาใช้เพื่อการใด เช่น เพื่อบรรเทาภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉิน หรือเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะต้องเป็นการกู้เงินมาใช้พัฒนาในโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ เหมือนช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 64-65 ของจีดีพี หรือกว่า 12 ล้านล้านบาท หากการกู้ยืมเงินยังคงเป็นไปในภาวะปกติ (จีดีพีไทยโตร้อยละ 3) เชื่อว่าในปี 2569 สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีจะยังคงมีราวร้อยละ 67.3 ต่อจีดีพีไทย อย่างไรก็ตาม แม้ไทยเจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว จากความผันผวนของสงครามการค้าโลก กระทั่ง จีดีพีเติบโตเหลือเพียงร้อยละ 2 ก็ยังไม่กระทบกับหนี้สาธารณะของไทย โดยคาดว่าสัดยังไม่เกินร้อยละ 68 ต่อจีดีพีไทย ขณะที่อัตราเพดานหนี้สาธารณะกำหนดไว้ที่ร้อยละ 70

ส่วนต่างของเพดานหนี้สาธารณะที่มีราว 5-6% หมายความว่า รัฐบาลไทยยังมีวงเงินที่จะขอกู้เพื่อนำมาใช้ในภารกิจใดก็ตามอีกเป็นจำนวนมาก (คำนวณคร่าวๆ ยังเหลือวงเงินกู้ยืมอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท)” ผอ. สบน. กล่าวแสดงความเห็น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password