บังคับใช้แล้ว! ระเบียบเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ทรมานฯ – 26 มี.ค.นัด Kick off  

“อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ” เผย! ระเบียบเยียวยาตาม พ.ร.บ.ทรมานฯ มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (22) ชี้! ถือเป็นการพลิกโฉมการเยียวยาแก่ผู้เสียหาย นอกจากตัวเงิน ยังพ่วงรูปแบบช่วยเหลือเยียวยาอื่น แจงผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยามี 4 กลุ่ม ดีเดย์ 26 มี.ค.นี้ นัดประชุม Kick off ระเบียบเยียวยา

น.ส.เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. 2568 มีผลใช้บังคับแล้ว ในวันนี้ (22 มี.ค. 2568) โดยระเบียบฯนี้ ได้นำหลักการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามมาตรฐานสากลมากำหนดไว้ ซึ่งเน้นการเยียวยาเชิงสิทธิมนุษยชน กระบวนการที่รวดเร็ว ไม่ต้องรอผลทางคดี อีกทั้งไม่ทับซ้อนกับการเยียวยาความเสียหายทางแพ่ง เรียกได้ว่า เป็นการพลิกโฉมการเยียวยาแก่ผู้เสียหายของประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น การเยียวยาตามระเบียบฯ นี้ นอกจากจะได้กำหนดการเยียวยาในรูปแบบที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังได้กำหนดให้มีรูปแบบการช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทางสังคม รวมถึงการแสดงความขอโทษ

สำหรับบุคคลที่มีสิทธิได้รับการเยียวยาและอัตราเงินช่วยเหลือเยียวยา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้เสียหายจากการถูกกระทำทรมาน ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาท)  2) ผู้เสียหายจากการถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 100,000 – 250,000 บาท (หนึ่งแสนถึงสองแสนห้าหมื่นบาท) 3) ผู้เสียหายจากการถูกกระทำให้สูญหาย ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) และ 4) สามี ภริยา (คู่สมรส) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย ได้รับเงินจำนวน 100,000 (หนึ่งแสนบาท)

ทั้งนี้ การพิจารณาตามระเบียบฯ ดังกล่าว อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด ศอ.บต. กรมบัญชีกลาง สภาทนายความ กองทุนยุติธรรม สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายจำเลยในคดีอาญา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนษุยชน แพทย์นิติเวช แพทย์จิตเวช รวมทั้ง แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และตัวแทนผู้เสียหาย เป็นอนุกรรมการ

โดยในวันที่ 26 มีนาคม 2568 นี้ จะได้มีการประชุมเตรียมความพร้อม kick off ระเบียบเยียวยาฯ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password