ปม DSI ตั้งเลขสืบสวน ‘ทุจริต สว.’ – ที่สุด! จะลงเอยแบบพัง! หรือแค่ตบจูบแล้วเลิกรา

กรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับพิจารณา คดีฮั้วเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นคดีพิเศษ ได้กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าในทางการเมืองขึ้นมาทันที!
แม้ท่าทีของ แกนนำ สว. ภายใต้การนำของ นายมงคล สุระสัจจะ ประธาน สว. และคณะ ที่มีต่อ ดีเอสไอ ไปจนถึง “คนโต” ในกระทรวงยุติธรรม เช่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ผู้มีอิทธิพล” นอกรัฐบาล ที่แกนนำ สว.กลุ่มนี้ เชื่อว่า…คือ คนคอยชักใยอยู่เบื้องทั้ง ดีเอสไอ และกระทรวงการยุติธรรม จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
กล่าวคือ…มีธง! ตั้งไว้ก่อนแล้ว
พร้อมกับคำถามตามมาในทำนอง…มันใช่หน้าที่ของ ดีเอสไอ หรือ? ในเมื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ในการดำเนินงานสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงแล้ว
ท่าทีที่ว่าของ สว. นอกจากจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับ ดีเอสไอแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะ ใช้อำนาจ “สภาสูง” ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อหยุดยั้งการดำเนินงานของดีเอสไอ
การเปิดรัฐสภาเพื่ออภิปราย รมว.ยุติธรรม และดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด และอาจลากโยงไปถึง รัฐบาล และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้บังคับบัญชาของ รมว.ยุติธรรม ก็อาจมีให้ได้เห็นในเร็วๆ นี้
แน่นอนว่า…บุรุษผู้มีสรรพนามเป็น “สทร.” อย่าง…นายทักษิณ ชินวัตร ก็อาจถูกพาดพิงไปด้วย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการบางคณะของ สว. ก็คงจะเรียก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เข้ามาชี้แจง ถึงเหตุผลการก้าวล่วงไปตรวจสอบที่มาของ สว.กลุ่มนี้ คู่ขนานกันไป
แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็น…“ศึกช้างสารชนกัน” แล้ว เรื่องจะสมยอม หรือถอยกรูด…กลับเข้าที่ตั้งแบบไร้กระบวนท่า ไม่น่าจะมีให้เห็นกันง่ายๆ
อย่างว่า…ต่างฝ่ายต่างมี “คนโต” นอกสภาฯ คอยให้ท้ายกันซะขนาดนี้ เรื่องจะยอมกันง่ายๆ คงไม่มี
ล่าสุด เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่มี ผู้สมัคร สว. ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอว่ากระบวนการการเลือก สว.ไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม และขอให้รับเป็นคดีพิเศษ โดยเขาย้ำว่า…
ขณะนี้ ดีเอสไอได้ตั้งเลขคดีสืบสวนไว้แล้ว ซึ่งถ้าอยู่ชั้นสอบสวนที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก็จะต้องนำเข้าเป็นคดีพิเศษในฐานความผิดอาญาอื่น แต่ต้องมีลักษณะเป็น ความผิดที่ทำเป็นกระบวนการหรือเป็นองค์กร มีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงเป็นผู้ที่มีอิทธิพล
หากเข้าเกณฑ์ในลักษณะนี้แล้ว ดีเอสไอสามารถทำให้ทุกคดี
แต่ถ้าคดีนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็จะดึงไปดำเนินการเอง หรือถ้า คดีนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะดึงเฉพาะส่วนฐานความผิดฐานเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ไปดำเนินการเช่นกัน
พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ขณะนี้เนื่องจากเราเคยมีการแจ้งไปยัง กกต. แล้วว่ามีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษว่าการเลือก สว. ครั้งดังกล่าวมีการกระทำเข้าข่ายความผิดทั้งกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และผิดกฎหมายอาญาหลายมาตรา โดยแจ้งไปหลายครั้ง แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ กกต. เพิ่งตอบกลับหนังสือมาใหม่ว่า เนื่องจากมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ระบุว่าจะต้องเป็นการสอบสวน
อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอไม่รับเรื่องไม่ได้เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ คือ มีการทำโพย และมีการฮั้วกัน
“สำหรับผู้มาร้อง ได้มาพบกับผม และมีการนำโพยมาให้ว่ากลุ่มที่ 1 หมายเลขนั้นหมายเลขนี้ฮั้วกัน จนถึงหมายเลข 20 ผมได้ถามว่าชื่อหมายเลขนั้นของกลุ่มนี้คือใคร จะพบว่าเป็น สว.อยู่ประมาณ 138 คน และ สว.ลำดับสำรองอยู่ 2 คน โดยเป็นพยานเอกสารซึ่งไม่มีใครทำได้ อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องมาให้การกับดีเอสไอ” รมว.ยุติธรรม ระบุและย้ำว่า…
“กราบเรียน สว.ว่าเราเคารพ ท่านและดีเอสไอทำงานให้ความยุติธรรมคน ไม่อคติ และตรงไปตรงมา ที่สำคัญเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนคิดว่าผู้ร้องได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในนิติบัญญัติ ถือว่าเป็นอำนาจของความมั่นคง เมื่อเข้าในชั้น คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) จะต้องพิจารณาว่ามีมูลพอสมควรหรือไม่ เพราะการสอบสวนเราจะต้องเชิญคนนอก เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยในการตรวจสอบพบว่ามีผู้เชี่ยวชาญบางคนมาให้การว่า ถ้าไม่มีการฮั้วกันจะเป็นแบบนี้ไม่ได้ ถ้าจะเลือกคน 10 คน ก็ควรสลับกันบ้าง แต่นี่ไม่สลับกันเลย ลำดับตรงกับโพย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสงสัย ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น และเป็นคนที่เคารพกันทั้งนั้น”
เมื่อถามว่า ขณะนี้เรื่องได้เข้าสู่การรับเป็นคดีพิเศษแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คณะกรรมการคดีพิเศษ มีอยู่ 21 คน ซึ่งแต่ละคนไม่มีใครที่จะล็อบบี้ได้ มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งมาจากหลากหลายที่ เช่น อัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา นายกสภาทนายความ และ ผบ.ตร. ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะรับเรื่องหรือไม่ แต่ขอให้พนักงานสอบสวนทำอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ อยากให้บอกว่าเป็นคดีปกติคดีหนึ่ง แต่ถ้าท่าน สว.ไม่สบายใจจะเชิญตนมาชี้แจงก็ได้
ทั้งนี้ จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ต้องให้พยานหลักฐานเป็นผู้กำหนด และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คนอยู่ต่างถิ่นต่างที่ของประเทศมารวมกันได้อย่างไร มานอนโรงแรมเดียวกันได้อย่างไรก็เป็นสิ่งที่เขาจะต้องมาตอบ ซึ่งหลักฐานบางส่วนเราได้มาแล้ว ส่วนการรับเรื่องในครั้งนี้ทำให้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ระบุว่า อาจจะขออนุญาตเข้าชื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ต.อ.ทวี ในสภาด้วยนั้น ตนก็ยินดี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ทางดีเอสไอไม่ได้ทำเรื่องที่มีความผิดเกี่ยวกับ กกต. ซึ่งถ้าเราเห็นก็ส่งให้กกต.ดำเนินการ แต่บางเรื่อง กกต.เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญก็อาจจะมาร่วมกับดีเอสไอก็ได้ ส่วนความผิดฐานอื่น เช่น เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือใด ๆ นั้น กกต.ไม่มีอำนาจดำเนินการในความผิดดังกล่าว
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า…เรื่องที่อยู่ในความสนใจของ “คอการเมืองไทย” และกำลังกลายเป็นกระแสข่าวใหญ่เวลานี้ กระทั่ง กลบ! ในหลายประเด็นข่าวการเมืองนั้น ที่สุดจะลงเอยในแบบ…พังกันเป็นแถบๆ ไปทั้ง 2 ข้าง หรือแค่ตบจูบ สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่อง…โอล่ะพ่อ?!
อีกไม่นานคงได้รู้กัน!!!.