“กิตติรัตน์” ผงาดนั่งเก้าอี้ ประธานบอร์ด “แบงก์ชาติ” หลังใช้เวลาประชุมกว่า5 ชม.

คณะกรรมการคัดเลือกประธานแบงก์ชาติ มีมติเลือก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” นั่งเก้าอี้ประธาน หลังใช้เวลาประชุมกว่า 5 ชั่วโมง เตรียมนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม.ทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

วันที่ 11 พ.ย.2567 คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มี นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 6 ราย จะประชุมเพื่อลงมติคัดเลือก หลังจากเลื่อนการลงมติมาแล้ว 2 ครั้ง จากกระแสต่อต้านว่าจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำการทำงานของ ธปท.

โดยคณะกรรมการ เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ซึ่งจะตัดสินใจคัดเลือกจากรายชื่อที่ ปลัดกระทรวงการคลังเสนอมา 1 ราย และผู้ว่าการ ธปท.เสนอมา 2 ราย ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งประธานกรรมการนั้น รายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอ ยังคงเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ส่วนรายชื่อที่ ธปท.เสนอนั้น ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่บริเวณด้านหน้าที่ทำการ ธปท. ก็มี กลุ่มผู้ชุมนุมจากกองทัพธรรม กลุ่ม คปท. และ ศปปส. ที่มาแสดงพลังคัดค้าน

สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกเหนือจาก นายสถิตย์ ก็จะมีกรรมการอีก 6 ราย ประกอบด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 7.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

โดยล่าสุด ที่ประชุม ได้มีมติเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการแบงก์ชาติคนล่าสุดสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา หลังการประชุมใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 15.00 น.โดยมติการคัดเลือกนี้จะถูกเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา และนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป.

สำหรับประวัติ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ชื่อเล่นว่า “โต้ง” เกิดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2501 เป็นบุตรของ “เก่ง ณ ระนอง” และ “วิลัดดา” (สกุลเดิม หาญพานิช) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2523 และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชีวิตครอบครัวสมรสกับ “เกสรา ณ ระนอง” (สกุลเดิม ธนะภูมิ) บุตรสาวของ พล.อ.พร และ เรณี ธนะภูมิ มีบุตร 3 คน คือ ต้น ต่อ และตรี ณ ระนอง โดยในส่วนของ “ต้น ณ ระนอง” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กิตติรัตน์” เริ่มต้นจากการเป็น “นักธุรกิจ” ก่อนจะประสบความสำเร็จเติบโตจนเคยขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากนั้นได้นั่งเป็นบอร์ดในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระหว่างปี 2549-2551 ในยุครัฐบาลพรรคประชาชน

ต่อมาเขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับ “พรรคเพื่อไทย” โดยในปี 2554 ยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ควบ รมว.พาณิชย์ ต่อมาปี 2555 ไปนั่ง รมว.คลัง ซึ่งสร้างวาทกรรมในตำนานที่ถูกกล่าวขานคือ “White Lie” หรือ “โกหกสีขาว” กรณีแถลงข้อมูลตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

นอกจากเส้นทางการเมือง-ธุรกิจแล้ว เขามีความสนใจด้านกีฬาเช่นกัน โดยเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ชุด 14 ปีเมื่อ ค.ศ. 2002 ชุดเอเชียนเกมส์ ค.ศ. 2006 และทีมชาติไทยชุดใหญ่ ค.ศ. 2008 นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2566 เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสโมสรฟุตบอลพราม แบงค็อก ในไทยลีก 3 ด้วย

หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ชื่อของ “กิตติรัตน์” ก็เงียบหายไปในทางการเมือง จะเห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับแวดวงกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลเท่านั้น ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 เขาคัมแบ็กกลับมาอีกครั้ง และถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ แต่ด้วยการคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อ รูปแบบใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อ ส่งผลให้เขาสอบตก หลังจากนั้นในปี 2563 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อพรรคเพื่อไทย รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 ได้แต่งตั้ง “กิตติรัตน์” ให้เป็น ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ กระทั่งพ้นจากตำแหน่งหลัง “เศรษฐา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้พ้นเก้าอี้ โดยปัจจุบันเขาไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในพรรคการเมืองใด และไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาล

ในมุมทรัพย์สิน “กิตติรัตน์” แจ้งกับ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุด เมื่อครั้งพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง เมื่อ 7 พ.ค. 2557 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 28,485,601 บาท ได้แก่ เงินสดจำนวน 2 แสนบาท เงินฝาก 2,853,614 บาท เงินลงทุน 13,474,544 บาท ที่ดิน 1 แปลง 2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง 8,787,443 บาท ยานพาหนะ 2 คัน 660,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 510,000 บาท แจ้งว่ามีรายได้โดยประมาณ จำนวน 798,943 บาท เป็นเงินจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 498,943 บาท และผลตอบแทนจากการออม 300,000 บาท รายจ่ายรวม 565,669 บาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password