นักวิชาการ เชื่อศาลรธน.รับคดี ยุบพท. ชี้ปมหารือ “จันทร์ส่องหล้า” หนักกว่า “นักโทษเทวดา”
“คมสัน โพธิ์คง” นักวิชาการฟันธง ไม่เกินพ.ย.นี้ ศาลรธน.รับคดี “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างฯ ไว้วินิจฉัย ชี้ปมหารือ “จันทร์ส่องหล้า” หนักกว่า “นักโทษเทวดา” เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
จากกรณีที่วันจันทร์ที่ 11 พ.ย.67 ที่จะครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบการดำเนินการกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.ในคดีร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ เพราะก่อนหน้านี้ นายธีรยุทธ เคยไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดมาก่อนแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการยื่นต่อศาลรธน.ทำให้นายธีรยุทธมายื่นศาลรธน.ตามช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ทำให้ศาลรธน.จึงอยากทราบกระบวนการต่างๆ ก่อนหน้านี้ว่า อัยการสูงสุดได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง
โดยยังไม่มีรายงานออกมาว่า อัยการสูงสุดจะขอขยายเวลาการส่งหนังสือถึงศาลรธน.ออกไปหรือไม่ ซึ่งหลังอัยการสูงสุดส่งหนังสือไปถึงศาลรธน.แล้ว ทางที่ประชุมตุลาการศาลรธน.ก็จะมาพิจารณาลงมติต่อไปว่า จะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย ที่อาจจะเป็นวันพุธที่ 20 พ.ย. หรือเร็วสุดอาจเป็นพุธที่ 13 พ.ย.นี้
นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการกฎหมายอิสระ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และอดีตรองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องที่มีการไปร้องกกต.ว่า นายทักษิณ ชินวัตร เข้าครอบงำพรรคเพื่อไทย ที่มีการไปยื่นหลายคำร้องแล้วรวมไว้เป็นเรื่องเดียวกัน ตนมองว่า เรื่องนี้มีมูล ซึ่งหากสุดท้าย กกต.ชี้ว่ามีการปล่อยให้ครอบงำจริง กกต.ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค โดยมองว่า ที่กกต. ดำเนินการดังกล่าว ก็เป็นเพราะคำร้องของนายธีรยุทธ ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญไปหกประเด็น ทำให้เป็นการกระตุ้นให้เร็วขึ้น ที่ตอนนี้ต้องรอว่าศาลรธน.จะรับหรือไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
“ที่ผมมองว่ากกต.คงแทงหวยว่าศาลรธน.คงรับไว้พิจารณา ก็เลยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องการครอบงำพรรค เพราะหากกกต. ไม่ตั้งกรรมการมาพิจารณาดำเนินการไว้ก่อน อาจจะไปเจอปัญหาแบบเดียวกับตอนทำเรื่องยุบพรรคก้าวไกล ที่พรรคก้าวไกลสู้คดีว่ากกต.ไม่ได้ทำตามมาตรา 92 และ 93 ตามพรบ.พรรคการเมือง ทางกกต.เลยชิงทำตรวจสอบเสียก่อนเพราะคงมองว่า เพราะกว่าจะสอบสวนเสร็จ ทางศาลรธน.ก็คงอาจมีคำวินิจฉัยออกมาพอดี เช่นหากศาลรธน.วินิจฉัยชี้ออกมาสมมุติภายในธันวาคมปีนี้หรือมกราคม 2568 ว่ามีการปล่อยให้มีการครอบงำพรรคจริง กกต.ก็อาศัยคำวินิจฉัยของศาลรธน.มาประกอบกับสำนวนของกกต. ก็ทำให้กระบวนการของกกต.ก็ไม่ต้องขยายเวลาอีกแล้ว ก็ไปต่อได้”
นักวิชาการกฎหมายอิสระผู้นี้กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้อัยการสูงสุด ทำคำชี้แจงภายใน15 วัน ก็เพื่อดูเงื่อนไขการฟ้องคดีของนายธีรยุทธ เข้ามาตรา 49 วรรคสามหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงนายธีรยุทธได้บอกว่า ได้ไปยื่นอัยการสูงสุดแล้วแต่เลยระยะเวลาแล้ว ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ก็เป็นเงื่อนไขที่ไปยื่นศาลรธน.ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องของนายธีรยุทธไว้วินิจฉัยมีค่อนข้างเยอะ โดยหลักการเขตอำนาจของศาลรธน. โดยหลังศาลรับเรื่องจากอัยการสูงสุดแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง อาจจะแค่หนึ่งสัปดาห์หลังรับหนังสือจากอัยการสูงสุด ก็น่าจะมีมติรับคำร้องภายในไม่เกินสัปดาห์ที่สามของเดือนพ.ย.
สำหรับหกประเด็นตามคำร้องของนายธีรยุทธ ที่ยื่นศาลรธน. คิดว่า ประเด็นที่มีน้ำหนัก น่าจะเป็นประเด็นเรื่องที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกับนายทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ส่วนประเด็นแรก ( เรื่องนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1ได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ)เป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ ที่จะไปโดนคดีอาญาหลังจากนี้ ที่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการยุบพรรค เป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายทักษิณ แต่หากพรรคเพื่อไทยจะเกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องของการที่ไม่ยอมจำคุกทักษิณโดยมีการเข้าครอบงำกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของคณะรัฐมนตรี แต่ประเด็นที่จะนำไปสู่เรื่องที่หนักมากๆ จริง ที่ยังเถียงกันอยู่ เพราะยังไม่มีคำตัดสินจากองค์กรใดชี้มาว่า กรมราชทัณฑ์ ถูกครอบงำจากวิธีคิดของนายทักษิณ หรือเป็นเรื่องของนักการเมืองที่ไปครอบงำเพื่อเอื้อให้กับนายทักษิณ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“เรื่องนี้ผมยังมองว่ายังไม่หนักเท่าประเด็นที่4 (กรณี ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทน ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 บ้านจันทร์ส่องหล้า)ที่ครอบงำพรรคการเมือง 5-6 พรรคที่เข้าไปประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพราะเรื่องนี้ไม่ได้กระทบแค่พรรคเพื่อไทยพรรคการเมืองเดียว แต่กระทบไปถึงพรรคการเมืองอีก 5-6 พรรค”
เมื่อถามว่า อาจมีการอ้างว่า วงประชุมวันดังกล่าว ตามข่าวที่สื่อรายงาน บอกว่าหนุนนายชัยเกษม นิติศิริ เป็นนายกฯ แต่สุดท้าย คนที่ถูกสนับสนุนเป็นนายกฯไม่ใช่นายชัยเกษม แต่เป็นแพทองธาร ชินวัตร นายคมสันกล่าวว่า คงฟังไม่ได้ เพราะเป็นแคนดิเดตนายกฯทั้งคู่(ของพรรคเพื่อไทย) อย่างคุณชัยเกษม ผมคิดว่านายทักษิณก็รู้อยู่แล้วว่าโดยสภาพ ไม่เหมาะที่จะเป็นนายกฯเลย ไม่ใช่คนที่จะเป็นนายกฯได้ ก็เป็นเป้าหลอกที่ออกมาข้างนอก เพื่อให้เห็นว่าเลือกชัยเกษม แต่จริงๆ แล้วเป็นแพทองธาร เพราะเหลืออยู่คนเดียว.