พาณิชย์เตือนภัย! แนะตรวจสอบ ‘6 สิ่ง’ ก่อนร่วมลงทุน – ชี้! อย่าหลงกลโฆษณาชวนเชื่อ ‘ลงทุนต่ำรับผลตอบแทนสูง’ เด็ดขาด
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนประชาชนที่ต้องการลงทุนประกอบธุรกิจขายตรงจริง ชี้! ต้องสังเกตและตรวจเช็ครายละเอียดธุรกิจที่จะร่วมลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ป้องกันมิจฉาชีพที่แฝงตัวในรูปนักธุรกิจหลอกลวง เตือนภัย! อย่าหลงกลโฆษณาชวนเชื่อ “ลงทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง” ย้ำ! ก่อนร่วมลงทุนกับใครควร “รู้เขาให้ละเอียดก่อน” แนะ 6 วิธีต้องตรวจสอบธุรกิจก่อนตัดสินใจร่วมลงทุน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนจาก ธุรกิจที่แอบอ้างเป็น “ธุรกิจขายตรง” โดยแท้ที่จริงแล้วเป็น “ธุรกิจแชร์ลูกโซ่” ที่ไม่ได้มีการขายสินค้าจริง แต่ใช้วิธีการหาเครือข่ายให้เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจเท่านั้น หรือไม่มีธุรกิจจริง แต่มีการแอบอ้าง/ปลอมแปลงหนังสือรับรองการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจและนำไปหลอกลวงประชาชนให้เข้าร่วมลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงแต่ลงทุนต่ำ โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญต่อประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก จึงสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งให้ความรู้และแนะวิธีตรวจเช็ครายละเอียดธุรกิจที่ต้องการเข้าร่วมลงทุนแก่ประชาชนเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ได้รวบรวมข้อมูลธุรกิจ (นิติบุคคล) ไว้มากที่สุดและเป็นคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถเข้าค้นหารายละเอียดข้อมูลธุรกิจได้จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> DBD DataWarehouse+ (คลังข้อมูลธุรกิจ) ค้นหาด้วยชื่อนิติบุคคล หรือ เลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก เบื้องต้น กรมฯ ขอแนะนำวิธีการตรวจรายละเอียดธุรกิจที่ต้องการร่วมลงทุน ดังนี้
1. ตรวจสอบความมีตัวตนของธุรกิจว่ามีตัวตนในการดำเนินธุรกิจจริงหรือไม่ (มีชื่อนิติบุคคลที่เชิญชวนให้ร่วมลงทุนในคลังข้อมูลธุรกิจ)
2. ตรวจสอบข้อมูลสถานะนิติบุคคล ว่า ‘ยังดำเนินกิจการอยู่’
3. ตรวจสอบ ‘รายชื่อกรรมการ’ ว่าตรงกับข้อมูลธุรกิจที่จะร่วมลงทุนได้ให้ข้อมูลไว้หรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลที่มาเชิญชวนให้เข้าร่วมลงทุน แต่กลับไม่มีชื่อเป็นกรรมการ หรือชื่อกรรมการเป็นใครก็ไม่รู้ ประเด็นนี้ควรตั้งข้อสังเกตถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจไว้ก่อน
4. ตรวจสอบว่าธุรกิจมีการนำส่ง ‘งบการเงิน’ ครบทุกปีหรือไม่ ตั้งแต่ปีที่เริ่มประกอบธุรกิจ หากพบว่าธุรกิจไม่เคยนำส่งงบการเงินเลย หรือ ส่งบ้างไม่ส่งบ้าง แสดงว่าธุรกิจดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือ งบการเงินเป็นสิ่งที่แสดงฐานะการเงินและความเป็นไปของธุรกิจ ให้ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้ง ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้ลงทุน ได้เห็นถึงสถานะของธุรกิจ อีกทั้ง การนำส่งงบการเงินเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
5. ตรวจสอบว่าประเภทธุรกิจตอนที่จดทะเบียนจัดตั้งกับตอนที่นำส่งงบการเงินถูกต้องตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกันต้องตั้งข้อสังเกตถึงประเภทธุรกิจว่านิติบุคคลนี้ทำธุรกิจประเภทใดกันแน่
6. ควรดูข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพทางการเงินของนิติบุคคลในมิติต่างๆ เช่น ความสามารถในการทำกำไร สภาพคล่อง ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สินทรัพย์และหนี้สิน มีสัดส่วนอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงบการเงินและข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน กรมฯ ให้บริการจากฐานข้อมูลงบการเงินที่นิติบุคคลนำส่งงบการเงินกับกรมฯ และสามารถเลือกแสดงได้ว่าจะเปรียบเทียบข้อมูลในมิติไหน ระหว่างเปรียบเทียบนิติบุคคลเดียวกัน ในรอบ 5 ปีย้อนหลัง หรือเปรียบเทียบนิติบุคคลนั้นกับนิติบุคคลรายอื่นๆ ที่ประกอบธุรกิจเดียวกัน ซึ่งตามวิธีการตรวจเช็ครายละเอียดธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงองค์ประกอบเบื้องต้นในการตรวจสถานะของนิติบุคคล ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ควรพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อมิให้ถูกหลอกลวงและเสียทรัพย์สินจำนวนมากจากการลงทุน ดังนั้น การศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจร่วมลงทุน จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำและมีความจำเป็นมากที่สุด
ปัจจุบัน มิจฉาชีพมีวิธีการหลอกลวงที่มีความแนบเนียนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สถานะนิติบุคคล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมาหลอกล่อให้ประชาชนหลงเชื่อ และโอนเงินเข้าร่วมลงทุนหรือทำธุรกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ก่อนมารู้ทีหลังว่าบัญชีของนิติบุคคลที่โอนเงินไปนั้น เป็น ‘บัญชีม้า’ ของธุรกิจที่ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจจริง นำมาซึ่งการสูญเสียทรัพย์สินเงินทองของประชาชน นับเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจที่ทำลายภาคการค้าการลงทุนของประเทศ รวมถึงบั่นทอนกำลังใจผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจจริง ส่งผลให้นักลงทุนที่ต้องการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจเกิดความหวาดระแวงและปฏิเสธการเข้าร่วมลงทุนในอนาคต
“กระทรวงพาณิชย์ มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอเตือนภัย! อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ ‘ลงทุนต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูง’ โดยใช้ความร่ำรวยและผลตอบแทนสูงมาจูงใจ ฉะนั้น ก่อนร่วมลงทุนกับใครควร ‘รู้เขาให้ละเอียดก่อน’ ย้ำ!! จะลงทุนทำธุรกิจทั้งทีต้องตรวจสอบธุรกิจที่จะร่วมลงทุนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ” อธิบดีฯอรมน กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4408 e-Mail: accounting@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th เป็นต้น.