จับตา! ปมร้อน “เกาะกูด-ป่วยทิพย์” ระเบิดเวลา ถล่ม “ทักษิณ-อิ๊ง-พท.” พังพินาศ
กรณี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรธน. พิจารณาปมปัญหา “พื้นที่ทับซ้อน” ของ “เกาะกูด” กับ การ”ป่วยทิพย์” บนชั้น14 รพ.ตำรวจ คือ ระเบิดเวลาทางการเมืองที่จะถล่ม “ทักษิณ ชินวัตร” และ “พรรคเพื่อไทย” และ จะเป็นการชี้ชะตา รัฐบาล พรรคเพื่อไทย จะอยู่หรือไป ส่งผลทางการเมืองโดยตรงต่อ “ทักษิณ-แพทองธาร” สองพ่อ-ลูก ตระกูล “ชินวัตร” โดยตรง
ประเด็นร้อนทางการเมือง ที่จะส่งผลต่อการอยู่รอดของรัฐบาล ที่มี พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ
โดยให้จับตาว่าในวันพุธที่ 13 พ.ย. หรือไม่ก็ พุธที่ 20 พ.ย. ศาลรธน. จะพิจารณารับคำร้องหรือไม่ ???
หลังจากศาล รธน.มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด ขอทราบการดำเนินการตามคำร้องดังกล่าว ที่นายธีรยุทธเคยร้องอัยการสูงสุดไปก่อนหน้าที่จะมายื่นศาล รธน. ซึ่งในวันที่ 11 พ.ย.นี้ จะครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลฯให้อัยการสูงสุดแจ้งการดำเนินการคำร้องคดีดังกล่าวมายังศาลรธน.
รายละเอียดดังกล่าวพบว่า คณะทำงานของอัยการสูงสุดได้ซักถามใน 6 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่สอง เรื่องผู้ถูกร้องที่ 1 กับกรณี MOU 2544 และ เกาะกูด นายธีรยุทธ ได้แจ้งกับอัยการเพิ่มเติมประเด็น ที่่นายทักษิณไปร่วมคิดกับผู้นำประเทศกัมพูชา อ้างเรื่อง พื้นที่ทับซ้อน แล้วต่อมาไปพูดในงานของสื่อมวลชนแห่งหนึ่ง ในลักษณะการแสดงวิสัยทัศน์ว่า จะมีการรื้อฟื้นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และต่อมาพบว่า น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำเรื่องดังกล่าวไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
นายธีรยุทธ ระบุว่า การประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงใช้พระราชอำนาจประกาศเขตไหล่ทวีปเป็นอธิปไตยของประเทศไทย ที่บริเวณเกาะกูด ซึ่งมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเวลานั้นก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ และปัจจุบันนายกฯ คือ น.ส.แพทองธาร จะต้องเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ไปเร่งรัดให้มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ที่อาจกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ
“ผมได้ส่งเอกสารผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในอดีต ที่เคยวินิจฉัยชัดเจนว่า การทำหนังสือสัญญาใดกับนานาประเทศ หากหนังสือสัญญานั้น มีบทที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออธิปไตยแห่งรัฐ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจแห่งรัฐ หนังสือสัญญานั้น อยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หมายถึงว่าการใดที่คณะรัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือนายกฯ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่งหรือทั้งคณะ จะได้ร่วมกันกระทำการอย่างใดอันอาจส่อไปในทางทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการปกครองอธิปไตยแห่งรัฐบริเวณเกาะกูด รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ในบริเวณน่านน้ำตรงเกาะกูด ก็อาจก้าวล่วงกระทบกระเทือนต่อพระยุคลบาท และอาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ การกระทำเช่นนี้ซึ่งยังกระทำการต่อเนื่องอยู่มาโดยตลอด เห็นว่าเข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ฯ”
ข้อกล่าวหาที่นายธีรยุทธยื่นเพิ่มเติมถือว่าเป็นประเด็นที่ฉกาจฉกรรจ์และแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนและการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระราชอำนาจ เป็นเรื่องที่คนไทยผู้รักชาติบ้านเมืองไม่อาจทนได้
เรื่อง MOU 2544 และ เกาะกูด กำลังประเด็นร้อนสำหรับรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ถึงกับเรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นในทิศทางเดียวกัน ก่อนออกมาแถลงถึงจุดยืนของรัฐบาล ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็ตั้งโต๊ะชี้แจงเช่นกัน แต่ก็ยังไม่สิ้นสงสัย
เนื่องจาก MOU 2544 ไทยกับกัมพูชาใช้กฎหมายคนละฉบับ โดยไทยใช้กฎหมายทางทะเล ตามสหประชาชาติ และยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) แต่กัมพูชาไม่ยอมรับ UNCLOS และกำหนดแผนที่ “เส้นเขตไหล่ทวีป” โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูด แล้วอ้อมตัวเกาะไปด้านล่าง แล้ววกกลับมาเป็นรูปตัว U ปรากฏตามแผนที่แนบท้าย MOU 44 กลายเป็นจุดเริ่มของการเกิด “พื้นที่ทับซ้อน”
การที่รัฐบาลยืนยันไม่ยกเลิก MOU 44 โดยอ้างกลัวจะถูกฟ้องนั้น ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติ ครม.เสนอให้ยกเลิก MOU แล้ว ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาเห็นชอบแต่ยุบสภาไปก่อน ขณะที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงยืนยันว่า ยกเลิก MOU ฝ่ายเดียวได้แล้วทำฉบับใหม่ให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากทำผิดกติกาสากล สอดรับกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ที่ประกาศล่า 1 แสนรายชื่อคนคลั่งชาติ ยกเลิก MOU 44
แม้ น.ส.แพทองธาร และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ซึ่งคาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ออกมายืนยันอีกครั้งว่า ต้องเจรจาเขตแดนให้ชัดก่อนเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลแล้วนำเข้ารัฐสภา
แต่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ ได้มีการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาแล้ว แต่กัมพูชาขอให้ไทยรับรองเขตแดนทางทะเลของกัมพูชา ตามเอกสารประกาศเขตแดนฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2515 ที่ลากเส้นผ่ากึ่งกลางเกาะกูด ทำให้ฝ่ายไทยยุติการเจรจา และก็ไม่มีการเจรจาอีก
ถามว่า แล้วรัฐบาลแพทองธารจะเจรจาอย่างไรไม่ให้ไทยเสียเปรียบ ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากนายทักษิณเคยได้รับแต่งตั้งจาก สมเด็จฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา และหลังนายทักษิณได้รับการพักโทษ สมเด็จฮุน เซน ก็มาเยี่ยมถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า
นายธีรยุทธ ยังเปิดเผยถึงการให้ถ้อยคำอัยการได้ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ไปนอนที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เพราะอย่างในคำร้องที่ยื่นศาลได้เขียนไว้ว่า จะมีพยานบุคคลที่จะส่งชื่อในบัญชีพยานต่อศาล รธน. หรืออย่างกรณีที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกันที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อ 14 ส.ค. เราก็มีพยานบุคคลที่จะนำเสนอต่อศาล รธน.ด้วย ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เคยบอกว่าเคยไปพบเยี่ยมเยียนที่ รพ.ตำรวจ หรือในรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ก็ระบุชัดเจนว่า เชื่อว่าไม่ได้ป่วยถึงขั้นวิกฤต และมีการเอื้อประโยชน์กันในกลุ่มเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ถูกร้องได้พักอาศัยที่ชั้น 14
ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มี นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวเข้ามาให้ข้อเท็จจริงด้านกระบวนการยุติธรรมที่นายทักษิณพักรักษาตัวที่ชั้น 14 ซึ่งมี นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์, พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ มาร่วมประชุมด้วย
โดย กมธ.พบพิรุธว่า ระยะเวลาตั้งแต่ น.ช.ทักษิณไปถึงสถานพยาบาล และพิจารณาหารือกับพยาบาลที่ได้ปรึกษาแพทย์ราชทัณฑ์แล้วส่งต่อไปยัง รพ.ตำรวจ ใช้เวลาเพียง 21 นาทีเท่านั้น ระยะเวลาในการวินิจฉัยโรคมีแค่เพียง 4 นาที ส่วน เวชระเบียน ข้อมูลการรักษา ไม่มีใครตอบได้ และไม่มีหน่วยงานใดยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินให้ น.ช.ทักษิณ พักรักษาตัวนอกเรือนจำ ต่อเนื่องยาวนานถึง 181 วัน
ส่วนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอ เวชระเบียน การรักษาตัวของนายทักษิณจาก รพ.ตำรวจ 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็โยนกันไปมา ขณะที่ นายกฯ อิ๊งค์ ยก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มาปกป้องพ่อตัวเอง ยิ่งทำให้น่าสงสัยว่าหากป่วยร้ายแรงจริง เปิดเผยให้สังคมเห็นก็จบไปแล้ว
แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยื้อเวลาออกไป แต่ภาคประชาชนก็ไล่บี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำหน้าที่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 34 บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน และให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคํา หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยยื่นหนังสือถึงเลขาธิการแพทยสภา ขอให้ตรวจสอบนายแพทย์ที่ รพ.ราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมและกฎเกณฑ์ทางจรรยาบรรณเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ น.ช.ทักษิณ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกแพทยสภา ขอติดตามผลการร้องเรียนตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ครั้งที่ 2 ซึ่งระยะเวลาล่วงเลยมา 11 เดือน
อดีตเลขาธิการแพทยสภาท่านหนึ่งระบุว่า กระบวนการพิจารณาจริยธรรมของแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของคณะกรรมการแพทยสภานั้น น่าจะได้ข้อสรุปแล้ว เพราะระยะเวลาเนิ่นนานมาพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ หากมีแพทย์คนใดกล้าประพฤติผิดทางจริยธรรม บันทึกเวชระเบียนอันเป็นเท็จ ไม่เพียงแต่ถูกแพทยสภาลงโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพิกถอนใบอนุญาตฯ แล้วอาจต้องรับโทษในคดีอาญาอีกด้วย
กรณี นักโทษเทวดา ชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หนีความจริงไม่พ้น หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องโดนข้อกล่าวหาละเว้นหน้าที่ตาม ม.157 ส่วน น.ช.ทักษิณ จัดฉาก ป่วยทิพย์ ออกจากเรือนจำไปนอนอยู่ที่ รพ.ตำรวจโดยมิชอบ เท่ากับว่า หนีคุก โดยการสมคบคิดของกรมราชทัณฑ์กับ รพ.ตำรวจ ต้องกลับมารับโทษจริง 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ประเด็นที่ นายธีรยุทธ ยื่นศาล รธน. มีความเกาะเกี่ยวร้อยรัดเป็นห่วงโซ่กันอยู่ ที่จะเชื่อมโยงว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้นายทักษิณใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางอื่นที่ไม่ได้ปรากฏใน รธน.
ดังนั้น หากศาล รธน.รับคำร้อง และนายธีรยุทธให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ย่อมจะส่งผลต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่จะออกมาในทิศทางที่ไม่เป็นคุณกับนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย จะเป็นการชี้ชะตา ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย-รัฐบาลแพทองธาร และขบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด !!!