‘รมช.คลัง’ ชงบูรณาการร่วม! สาวโยงตัวการใหญ่ – สรรพสามิตชูผลปราบปรามปี’67 จับกว่า 3 หมื่นคดี เพิ่มขึ้น 28%
“เผ่าภูมิ” หนุนกรมสรรพสามิตบูรณาการร่วมหน่วยงานปราบปรามภายนอก เร่งขจัดผู้กระทำผิดกฎหมาย ควบคู่ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบ สาวโยงถึงตัวการสำคัญนำเข้าสินค้าหนีภาษีและสินค้ากระทบชีวิตคนไทย ย้ำ! ช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ ปริมาณใช้จ่ายของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสูง ต้องป้องกันสินค้าผิดกฎหมายเข้มข้น เผย! ปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพสามิตโชว์ผลการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย 33,359 คดี สูงขึ้นกว่าปีก่อน 28.11% ป็นเงินค่าปรับ 690.75 ล้านบาท ระบุ หากคิดเป็นประมาณการค่าปรับมูลค่าจะสูงถึง 2,465.86 ล้านบาท
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ณ อาคารสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม (สตป.) กรมสรรพสามิต, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต พร้อมด้วย นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต และคณะผู้บริหารกรมสรรพสามิต ร่วมแถลงข่าวผลการปราบปรามสินค้าสรรพสามิต ประจำปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. 2566 – 30 ก.ย. 2567) โดยระบุว่า กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และดูแลพี่น้องประชาชน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ได้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของพี่น้องประชาชนหากบริโภคสินค้าปลอม ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน
สำหรับผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศ ผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินงานของ ศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ นั้น พบว่า ในปีงบประมาณ 2567 สามารถจับกุมการกระทำผิด จำนวน 33,359 คดี สูงขึ้นกว่าปีก่อน 28.11% คิดเป็นเงินค่าปรับ 690.75 ล้านบาท และประมาณการค่าปรับ 2,465.86 ล้านบาท โดยจำแนกเป็น…
1. สุรา จำนวน 15,974 คดี ค่าปรับ 150.69 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 48.59 ล้านบาท
จำนวนของกลาง แบ่งเป็นสุราในประเทศ 117,361.70 ลิตร และสุราต่างประเทศ 30,340.54 ลิตร
2. ยาสูบ จำนวน 13,170 คดี ค่าปรับ 361.73 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 2,334.40 ล้านบาท จำนวนของกลาง แบ่งเป็นยาสูบในประเทศ 301,961 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 2,579,434 ซอง
3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 1,465 คดี ค่าปรับ 76.86 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 11.41 ล้านบาท จำนวนของกลาง 2.56 ล้านลิตร
4. รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,109 คดี ค่าปรับ 29.75 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 6.34 ล้านบาท จำนวนของกลาง 1,493 คัน
5. ไพ่ จำนวน 575 คดี ค่าปรับ 7.07 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 10.14 ล้านบาท จำนวนของกลาง 79,561 สำรับ
6. รถยนต์ จำนวน 268 คดี ค่าปรับ 27.89 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 34.16 ล้านบาท จำนวนของกลาง 269 คัน
7. เครื่องหอมและเครื่องสำอาง จำนวน 226 คดี ค่าปรับ 13.40 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 20.32 ล้านบาท จำนวนของกลาง 244,723 ขวด
8. เครื่องดื่ม จำนวน 216 คดี ค่าปรับ 5.84 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 3.84 แสนบาท จำนวนของกลาง 108,259.31 ลิตร
9. แบตเตอรี่ จำนวน 210 คดี ค่าปรับ 13.78 ล้านบาท จำนวนของกลาง 89,059 ก้อน
10. สินค้าอื่น ๆ จำนวน 146 คดี ค่าปรับ 3.69 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 83,240 บาท
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ยกระดับการทำงานเชิงรุกในด้านการปราบปรามและสืบค้นในทุกช่องทาง อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสืบค้นการกระทำผิดในช่องทางออนไลน์ ผ่านศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ของกรมสรรพสามิต นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการขนส่งทางบก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไปรษณีย์ไทย แฟลช เอ็กซ์เพรส ศรชล. กองทัพเรือ กองทัพบก เป็นต้น เพื่อมุ่งปราบปรามและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งจากการดำเนินการเชิงรุก ทั้งด้วยกำลังคนและออนไลน์ รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก ส่งผลให้กรมสรรพสามิตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดพร้อมของกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“สินค้าที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิตส่งผลเสียต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม การปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่เป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี จึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของกรมสรรพสามิต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อพี่น้องประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐาน และยังเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต” รมช.คลัง ย้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการบูรณาการในการจับกุมผู้กระทำผิดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สามารถจะขยายผลไปยังตัวการผู้อยู่เบื้องหลัง หรือกลุ่มธุรกิจสีเทาได้บ้างหรือไม่ นายเผ่าภูมิ ตอบว่า นั่นคือเป้าหมายหลักของการบูรณาการในปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการอย่างเข้ม แม้กระทั่ง ทำการล่อซื้อเพื่อจับกุม ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ ศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ มาใช้ กระทั่ง ทำให้สามารถขยายผลไปยังตัวการสำคัญได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจับกุมผู้ค้าน้ำหอมผิดกฎหมาย ถือเป็นการขยายผลกระทั่งสามารถจับกุมตัวการใหญ่มาได้ และแนวทางการดำเนินงานนี้ จะเพิ่มความเข้มข้นในโอกาสต่อไป
ส่วนคำถามที่ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีถือเป็น “ไฮซีซั่น” สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย กรมสรรพสามิตมีแผนจะรับมืออย่างไรบ้างนั้น รมช.คลัง ตอบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวคาดการณ์ได้ว่าการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีสูงขึ้น ซึ่งตนได้ให้นโยบายกรมสรรพสามิต บูรณาการในการป้องกันและปราบปราม รวมถึงมีมาตรการในการสอบที่เข้มข้นยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะทำให้แผนงานในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน.