‘องค์กรสื่อ’ สามัคคีเพื่อนร่วมวิชาชีพ บุกสภาฯ ยื่นตรวจสอบจริยธรรม ‘บิ๊กป้อม’
Thai PBS ควง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เร่งตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังแสดงพฤติกรรมส่อคุกคามสื่อมวลชนขณะสัมภาษณ์ ระบุ! นับเป็นปรากฏการณ์แรกของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อที่ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพและร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ เผย! องค์กรภาคประชาชนจ่อยื่น ป.ป.ช. เอาผิดต่ออีกสเต็ปแล้ว
กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะเป็นการคุกคามสื่อมวลชนขณะให้สัมภาษณ์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทั่ง องค์กรสื่อมวลชน และภาคประชาสังคม เรียกร้องให้มีการตรวจสอบจริยธรรมอย่างเร่งด่วนนั้น ล่าสุด นายอิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมด้วย นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา เมื่อช่วงสายวันที่ 21 สิงหาคม 2567 เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตร โดยมี นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับมอบ
นายอิทธิพันธ์ กล่าวถึงพฤติกรรมของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า “ไม่น่าจะเป็นการหยอกล้อ” อีกทั้งยังมีหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกล้องวงจรปิด ที่ได้กระทำต่อผู้ถูกกระทำเพื่อประกอบการพิจารณา
ขณะที่ นายสุปัน กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรแสดงพฤติกรรมไม่พอใจกับนักข่าว และแสดงอาการเกรี้ยวกราด ซึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ การกระทำแบบนี้ ไม่ใช่การหยุมหัว แต่เป็นพฤติกรรมคุกคามสื่อ ซึ่งนี่ไม่ใช่พฤติกรรมครั้งแรกของนักการเมืองท่านนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการดูหมิ่นดูแคลนเพื่อนร่วมวิชาชีพมาก่อน จึงยื่นคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรม เพราะเป็นเหตุการณ์เสมือนนิสัย ที่ทำต่อสื่อมวลชนในความผิดจริยธรรมข้อ 12 และ 13 ทั้งนี้ นอกจากที่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะมายื่นกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแล้ว ยังมีองค์กรภาคประชาสังคมเตรียมยื่นให้กับ ป.ป.ช. อีกด้วย
นายสุปัน ย้ำว่า นี่คือปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เพื่อนร่วมวิชาชีพลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน มากกว่าการออกแถลงการณ์ และนี่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ เป็นบรรทัดฐานให้กับนักการเมืองที่จะปฏิบัติต่อสื่อมวลชนให้ตระหนักว่า สื่อมวลชนไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เราทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าแหล่งข่าวหรือนักการเมืองไม่เต็มใจที่จะตอบ หรือไม่พร้อมที่จะตอบ ก็ขอให้บอกว่าไม่ตอบ ตัวอย่างล่าสุดของ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ยิ้มแล้วเดินออกไปไม่เห็นจะต้องแสดงกิริยา ที่เกรี้ยวกราดและคุกคามกันขนาดนี้
ทางด้าน นายนพดล ศรีหทัย บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เป็นอีกหนึ่งตัวแทนองค์กรสื่อที่เดินทางมายื่นหนังสือถึง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สอบจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตร โดยเขากล่าวว่า หลังจาก Thai PBS ได้ตรวจสอบเรื่องราวทั้งหมด และพูดคุยกับผู้สื่อข่าวที่ถูกกระทำ จึงไม่นิ่งนอนใจและรีบยื่นหนังสือเพื่อให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของผู้กระทำที่ผิดจริยธรรม ไม่สามารถยอมรับได้ ในฐานะที่เป็นองค์กรสื่อสาธารณะ จำเป็นจะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้สื่อข่าว เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการทำงานของสื่อ เพราะการทำงานแล้วถูกข่มขู่ทำร้ายอาจจะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิ ส่วนคดีอาญาให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ดำเนินการ เพราะอาจมีผลต่อการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว โดยผู้สื่อข่าวเองไม่มีเจตจำนงในการแจ้งความ
บรรณาธิการบริหาร Thai PBS ย้ำว่า การยื่นสอบ พล.อ.ประวิตร เป็นไปเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานทางจริยธรรม และการทำงานของสื่อที่ยากลำบาก จึงควรได้รับสิทธิในการปกป้อง ส่วนจะเอาผิดได้หรือไม่ ขอให้เป็นเรื่องการดำเนินการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของสื่อก็ต้องดำเนินการต่อไป ในฐานะสื่อสาธารณะ ไม่อยากให้เรื่องการยื่นฟ้องนักการเมือง มาทำให้ขัดกับหลักการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะ การตั้งคำถามที่ประชาชนต้องการรู้ ซึ่งควรเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตร แก้ต่างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการหยอกล้อนั้น อยู่ที่มุมมองของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่จากภาพที่ปรากฏไม่ใช่การหยอกล้ออย่างแน่นอน.