ป.ป.ง. เป็นเหยื่อถูกแอบอ้าง ‘ข่าวปลอม’ หลอกชาวบ้านมากสุด!

“โฆษกกระทรวงดีอี” ชี้! ผลมอนิเตอร์ข่าวปลอมรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 19 – 25 กรกฎาคม 2567 ระบุ พบข้อความที่มีเข้ามา 851,933 ข้อความ เป็นข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) รวม 248 ข้อความ ช่องทางที่มิจฉาชีพใช้มากสุดคือ Social Listening ส่วนข่าวปลอมโยงหน่วยงานปราบโกง โดนแอบอ้างมากสุดคือ ป.ป.ง. โดยเฉพาะข่าว “เปิดเพจแจ้งความ รับเงินคืนจากคดีออนไลน์” แนะคนไทย ต้องรู้เท่าทัน

“โฆษกกระทรวงดีอี” นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 19 – 25 กรกฎาคม 2567 พบช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ มาจาก Social Listening จำนวน 204 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 43 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 209 เรื่อง โดยมี 102 เรื่อง ที่ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว อันเป็นผลจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ (เรียงจากอันดับ 1 – 10) ดังนี้

(1) “ปปง. เปิดเพจแจ้งความออนไลน์ ชื่อว่า ศูนย์รับเรื่อง-ลงทะเบียนและตรวจสอบเพื่อรับเงินคืนจากคดีออนไลน์”, (2) “ ปปง. เปิดให้ลงทะเบียนรับเงินคืน ผ่านเพจศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ AOC”, (3) “เพจกระทรวงยุติธรรมปรึกษากฎหมาย รับเรื่อง ร้องเรียน ร้องทุกข์ เป็นเพจที่กระทรวงยุติธรรมจัดทำขึ้น”, (4) “กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจ Rescue crime เพื่อแจงขั้นตอน ยื่นคุ้มครองสิทธิ ขอเงินคืน”, (5) “พม. เปิดเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ตรวจสอบ-ลงทะเบียนเพื่อรับเงินคืนจากคดีออนไลน์”, (6) “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ผู้ลงทุนโอนเงินเพื่อขอรับรองหรือรับประกันวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์”, (7) “กรมการจัดหางาน เปิดช่อง TikTok @dy18ozezoiod”, (8) “ลงทะเบียนรับทรัพย์สินคืนจากอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านเพจ ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ – ETDA”, (9) “กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ เพื่อรับสมัครงาน” และ (10) “TikTok ศูนย์มาตรฐานฝีมือแรงานโฮมโปร สร้างช่างมืออาชีพตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

โฆษกกระทรวงดีอี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าทั้งหมดเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งทำหน้าที่การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอันดับ 1 และ 2 เป็นข่าวปลอมที่แอบอ้างหน่วยงาน สำนักงาน ป.ป.ง.

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลจาก ป.ป.ง. พบว่า เพจและคลิปสั้นที่มีการโพสต์ดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอม ซึ่งมิจฉาชีพได้ตัดต่อคลิปจากข่าวที่สื่อมวลชนเผยแพร่ และนำมาเพิ่มเติมข้อความ เพื่อหลอกผู้เสียหายจากคดีฉ้อโกงให้หลงเชื่อส่งข้อมูลและโอนเงินให้ตามที่อ้างว่า จะดำเนินเรื่องช่วยเหลือ ทั้งที่ความเป็นจริง ทาง ป.ป.ง. ไม่เคยมีการเปิดให้ผู้เสียหายทุกรายคดี ยื่นคำร้องผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางแต่อย่างใด

“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ หรือแชร์ข้อมูล ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลส่วนตัวบุคคล และทรัพย์สิน หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้” นายเวทางค์ ย้ำ พร้อมกับแนะนำว่า…

ประชาชนต้องตระหนักรู้ถึงข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ และโซเชียล อย่างเท่าทัน ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.).

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password