กรมศุลฯมอบตู้ขนสุกรเถื่อนไปทำลาย สั่งเข้มตรวจตู้สินค้าควบคุม พ.ร.บ.โรคระบาด

กรมศุลกากรส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลางในคดีพิเศษ ที่ 59/2566 รวม 161 ตู้ ให้ดีเอสไอรับขนย้ายไปทำลาย ด้าน “อธิบดีกรมศุลกากร” สั่งเข้มงวดตรวจปล่อยตู้สินค้าทุกชนิด ย้ำ!  หากเป็นตู้ฯควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ จะถึง จนท.จากด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ มาร่วมตรวจทุกกรณี พร้อมกำชับคนกรมศุลฯ ยึดแนวปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวข้องให้ครบถ้วน

เมื่อช่วงบ่าย วันที่ 29 กันยายน 2566 ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี, นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และคณะ เพื่อทำ พิธีส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้า 161 ตู้ คดีพิเศษ ที่ 59/2566 ไปทำลาย ร่วมด้วยผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ และผู้ประกอบการสายเดินเรือ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากกรมศุลกากรได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรือที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรอง และไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น รวมถึงไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ จึงได้ทำการเปิดสำรวจและพบว่าเป็นสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตในการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ต่อมากรมศุลกากรดำเนิน การจัดทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์แจ้งการส่งมอบซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ เพื่อให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตามพระราชบัญญัติ  โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ กรณีนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 และข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์กับกรมศุลกากร เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ในการดำเนินคดีอาญา กรมศุลกากรได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอให้สืบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต่อมา DSI รับกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร เป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 ซึ่ง กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์และ DSI ร่วมกันเปิดสำรวจตู้สินค้าตกค้างทั้งหมด 161 ตู้ แล้วเสร็จ และมีความเห็นร่วมกันในการนำของกลางสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ ไปทำลายตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดย DSI รับผิดชอบควบคุมการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าไปทำลายตามสถานที่ที่กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมไว้

“ในวันนี้ (29) กรมศุลกากรจึงส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลาง จำนวน 161 ตู้ ให้กรมปศุสัตว์ เพื่อนำไปดำเนินการทำลายตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป และกรมศุลกากรจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยตู้สินค้า ทั้งตู้สินค้าชนิดทั่วไปและตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) โดยหากเป็นตู้สินค้าที่เป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จะมีการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ในทุกกรณี รวมถึงได้กำชับพนักงานศุลกากรให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวและว่า   

ทั้งนี้ หากตรวจพบความผิดเกี่ยวกับสินค้าประเภทสุกรหรือเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้พนักงานศุลกากรดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และกรมศุลกากรพร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนพนักงานสอบสวน และบูรณาการตรวจสอบการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าเนื้อสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อความปลอดภัยของประชาชน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password