นายกฯ ตั้งแล้ว “3 อรหันต์” มือฉมัง ตรวจสอบบุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” ปมโยงเว็บพนัน
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เซ็นเเล้วตั้ง 3 อรหันต์ มือฉมังตรวจสอบคดี ค้นบ้าน’โจ๊ก’คดีเว็บพนัน ดึงมือดี 3 หน่วยงาน “ปลัดฉิ่ง-ชาติพงษ์-วินัย” ร่วมทีม มีอำนาจสอบข้อเท็จจริงรายงานนายกฯ ทุก 10 วัน
วันที่ 26 ก.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (25 ก.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 247/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพัก ของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ความว่า ตามที่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเคหสถานอื่นอีกหลายสิบแห่งในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลเชื่อมโยงเส้นทาง การเงินเกี่ยวกับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป นั้นโดยที่กรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งกระทบกระเทือน ต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขจัดผู้มีอิทธิพล และการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันออนไลน์ ให้หมดสิ้นไปอย่างจริงจังสมควรที่สังคมจะมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติกรรมและพฤติการณ์ของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้น บ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย
1.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ
2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ
3.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการเเละเลขานุการ
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าค้นบ้านพักข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 ก.ย.และที่จะดำเนินการต่อเนื่องไป แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายใน
สามสิบวัน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีก ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบวัน
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงาน ของรัฐที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด
ข้อ 4 ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือ ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนดเบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่ง และค่าตอบแทนตามวรรคสอง ให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับ 3 รายชื่อคณะกรรมการที่นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีเป็นคนตั้ง เป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ
1.นายฉัตรชัย พรหมเลิศ หรือ “ปลัดฉิ่ง” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เเละผู้ชนะการเลือกตั้ง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภท (ข) อันดับ 1ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเหตุที่ได้รับการทาบทามมาเป็นประธานกรรมการ เพื่อ เอามาตรวจสอบเเละคานอำนาจตำรวจเรื่องเส้นทางการเงิน อีกทั้งบุคคลิกนายฉัตรชัย เคยเป็นนักปกครองที่มีผลงาน ความสามารถ และมีประสบการณ์
2.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด สำหรับชื่อนี้ในวงการอัยการเป็นที่รู้จักกันอย่างดี เนื่องจาก นายชาติพงษ์ ขึ้นชื่อในฝีมือเรื่องปราบการทุจริตฯ มีประสบการณ์มาก เคยนั่งรองอธิบดีอัยการคดีพิเศษ เเละอธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจ เป็นหัวหน้าคณะทำงานที่คุมคดีสำคัญ ของสำนักงานคดีพิเศษหลายคดี เช่น คดีนิติบุคคล ฟิลิป มอร์ริส นำเข้าบุหรี่โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ซึ่งขณะนี้มีกรณีพิพาท ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ ในเรื่องนี้ที่องค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ,คดีทุจริต สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเกี่ยวพันถึงคดีทุจริตฟอกเงินเครือข่ายวัดธรรมกาย คดีธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ กลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร รวมถึงคดีทุจริต การฟอกเงินในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เคยเป็นกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องคดีลูกนักธุรกิจชื่อดังขับรถชนคนตาย ที่ถูกเลือกเข้ามาเป็น1ใน3 กรรมการทั้งที่ไม่ได้เป็น ก.ตร.ถือเป็นกรรมการคนกลางอย่างเเท้จริงที่ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เนื่องจากมีความรู้เรื่องในวงการตำรวจเป็นอย่างดีเพราะเป็นบุตรชาย พล.ต.อ. สุพาสน์ จีระพันธุ อดีตผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ปัจจุบัน เป็นอัยการอาวุโส สำนักงานชี้ขาดคดีสำนักงานอัยการสูงสุด
3.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ เเละเป็น ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากอดีตข้าราชการตำรวจ เเละนายกสมาคมตำรวจ ทั้งยังเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุมเมืองหลวง ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานบทบาทผลักดันในเรื่องการปฎิรูปตำรวจ เเละออกมา ละสนับสนุนข้าราชการตำรวจที่ดี ไม่มีเส้น ไม่มีผู้ใหญ่หนุนหลัง ในการการพิจารณาตำแหน่ง เลื่อนขั้น ด้วยหลักคุณธรรม ความสามารถ อาวุโส เเละสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ก.ตร.จากข้าราชการตำรวจ เเบบศาลกับอัยการ ซึ่งการถูกเลือกเข้ามาของพล.ต.อ.วินัย เนื่องจากเป็นคนซื่อตรงเเละกล้าที่จะเข้ามาเเก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเพื่ออนาคตของข้าราชการตำรวจต่อไป.