ป.ป.ช.บุรีรัมย์ สรุปผลงานปราบทุจริต ชี้มูลความผิด 7 เรื่อง

ป.ป.ช.บุรีรัมย์ สรุปผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำปี 2566 มีเรื่องร้องเรียนตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 125 เรื่อง พร้อมกับมีมติชี้มูลความผิด 7 เรื่อง

นางสาวสุรีรัตน์ นวลฉิมพลี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการปฏิบัติการเชิงรุกทั้งหมด 3 ด้าน คือ ภารกิจด้านปราบปรามการทุจริต ภารกิจด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน และภารกิจด้านป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะด้านการปราบปรามการทุจริต ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับเรื่องให้ตรวจสอบเบื้องต้น 125 เรื่อง ดำเนินการตรวจสอบแล้วเสร็จไป 64 เรื่อง คงเหลืออีก 61 เรื่องรอการตรวจสอบ ส่วนเรื่องการไต่สวนเบื้องต้น มี 80 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 8 เรื่อง เหลือ 72 เรื่อง สำหรับ การตรวจรับคำกล่าวหา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาทั้งหมด 74 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 72 เรื่อง เหลือ 2 เรื่อง ซึ่งข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องที่                                                 

ขณะเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวนและมีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำทุจริตหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยได้มีมติชี้มูลความผิดไปแล้ว จำนวน 7 เรื่อง ประกอบด้วย                                              

1.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายวุฒินันท์  ประสงค์ทรัพย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเย้ยปราสาท อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนลาดยางผิวจราจรชนิดแคพซีลสายบ้านใหญ่ หนองตาดำ หมู่ที่ 6 ถึงบ้านเมืองแฝก หมู่ที่ 4 วงเงินงบประมาณ จำนวน 5,000,000 บาท โดยวิธีพิเศษ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง                                                                                                                 

2.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางบุณยวีร์  ดอนศรีฐิติโชติ หรือนางสรวีย์ 
วาลีประโคน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสี่เหลี่ยม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก
ทุจริตในการจัดซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำดับเพลิงอเนกประสงค์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 วงเงินงบประมาณ 1,998,000 บาท                                                                                                              

3.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายเจริญ  แคลงพิมาย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก ทุจริตในการจัดหาพัสดุ ปีงบประมาณ 2550 ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะทิง จำนวน 9 โครงการ                                            

4.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายพยัพ  สมานสารกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียน
บ้านหนองม่วงราษฎร์อุทิศ ตำบลบ้านไทร อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก
ทุจริตการจัดซื้อจัดหาเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองม่วงราษฎร์อุทิศ เมื่อปี พ.ศ. 2558                                       

5.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายสถิตย์  ทองเหลา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาในการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ปีการศึกษา 2558 ภาคเรียนที่ 2 โดยกีดกันการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และไม่ยกเลิกประกวดราคาเนื่องจากมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว                                                                         

6.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายเทพ  แก้วรังศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนที่มีลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือน ในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 ทั้งที่ไม่ได้มาปฏิบัติงาน และ                                     

7.) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายสมจิต  พรมศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ กับพวก ทุจริตการเบิกจ่ายเงินโครงการอบรมสัมมนาและศึกษาดูงานภายในประเทศของคณะบริหารสมาชิกสภา ผู้นำชุมชน พนักงานส่วนตำบลและพนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลร่อนทอง ประจำปีงบประมาณ 2556                                                   

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ยังคงเดินหน้าปฏิบัติตามแผนแม่บท “ยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริต” ในระดับท้องถิ่น เพื่อยกระดับค่า “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ในทุกพื้นที่ของจังหวัดให้สูงขึ้น ตามนโยบายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดนำไปปรับปรุง ตรวจสอบ และสร้างจิตสำนึกด้านการสร้างความโปร่งใสเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด เพื่อสอดรับกับการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password