DSI จับมือกรมโรงงานฯ จ่อเชือด ‘ซินเคอ หยวน สตีล’ ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน

ดีเอสไอ-กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมสืบสวน “บ.ซินเคอ หยวน สตีล” ผลิตเหล็กไม่ผ่าน มอก. คาดรับเป็นคดีพิเศษแยกจากคดีนอมินี

คณะพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) กรณี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอความอนุเคราะห์ร่วมสืบสวนกรณี บริษัท ซินเคอ หยวน สตีล จำกัด โดยมีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีคุ้มครองผู้บริโภคร่วมบูรณาการ
คณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ยังเผยอีกว่า หากดีเอสไอรับเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไว้เป็นคดีพิเศษนั้น ต้องดูพยานหลักฐานว่าวัสดุไม่ได้มาตรฐาน หรือมีรายละเอียดพฤติการณ์เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ อาทิ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีผู้เสียหายตั้งแต่ 100 รายขึ้นไป หรือมีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อประชาชน จำนวน 50,000 หน่วยขึ้นไปตามชนิดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น แต่ตอนนี้กระบวนการอยู่ระหว่างที่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังพิจารณาข้อมูลทั้งหมด ซึ่งถ้า สมอ. พบการกระทำความผิดตามพยานหลักฐานจริง สมอ. สามารถเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอ เพื่อให้ดำเนินคดีบุคคลหรือนิติบุคคลได้ ทั้งนี้ หากมีการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษของ สมอ. จะถือว่าได้มีการตรวจสอบมาประมาณหนึ่งแล้วว่าบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้อง และเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระบุด้วยว่า กรณีที่ดีเอสไอ หากจะต้องพิจารณาเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือเรื่องเหล็ก จะสามารถรวบรวมเข้ามาพิจารณาเป็นคดีพิเศษเดียวกับคดีนอมินี หรือแยกสำนวนคดีพิเศษออกไปนั้น เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่าอาจแยกทำคนละสำนวน คือ สำนวนคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ และ สำนวนคดีเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งถ้าต้องแยกสำนวนเรื่องตรวจสอบเหล็กจริงๆ ดีเอสไอจะเน้นสอบสวนตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เนื่องด้วยในคดีนอมินีและคดีเหล็กไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม อาจปรากฏกลุ่มผู้กระทำผิด หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคนละกลุ่มกัน
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ย้ำว่า สำหรับเรื่อง การติดตามตัว 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้สืบสวนติดตามจนพบกับญาติของ 2 ผู้ถือหุ้นแล้ว ได้แก่ ภรรยาของนายประจวบ ที่ จ.ร้อยเอ็ด และน้องเขยของนายมานัส ที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจนพบข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันว่าทั้งคู่เป็นเพียงพนักงานธรรมดา มีรายได้น้อย ไม่มีเหตุน่าเชื่อได้ว่าเป็นกรรมการผู้ถือหุ้นตัวจริง อาจเป็นการถือหุ้นอำพราง จึงยังเหลือผู้ถือหุ้นชาวไทยรายสุดท้าย คือ นายโสภณ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังคงอยู่ระหว่างเร่งติดตามหาตัวให้พบ เชื่อได้ว่าตอนนี้เจ้าตัวมีพฤติการณ์พยายามหลบหนี
“ด้วยความที่ ทั้ง 3 คนยังอยู่ในสถานะพยาน ดังนั้น การติดตามตัวอาจไม่เข้มข้นเหมือนหมายเรียกผู้ต้องหา ซึ่งเราเน้นย้ำว่าการเป็นพยาน สามารถเข้าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ได้ แต่ถ้าเป็นหมายผู้ต้องหาเมื่อใด ก็จะนำไปสู่การออกหมายจับเพื่อติดตามจับกุมตัว ทั้งนี้ ดีเอสไอทำงานสอบสวนโดยมุ่งหวังประสงค์ข้อเท็จจริงเพื่อนำเข้าสู่สำนวนคดีการสอบสวน และให้เป็นไปตามความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน แต่ถ้าพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่องจนพบว่าบุคคลใดก็ตามมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด หรือมีเจตนาที่จะกระทำผิดด้วยกัน เมื่อถึงขั้นตอนนั้นก็จะต้องพิจารณาออกหมายเรียกผู้ต้องหา หรือนำเอาหลักฐานเสนอขอศาลออกหมายจับตามขั้นตอนต่อไป” คณะพนักงานสอบสวน DSI ระบุ.


