กรมพัฒนาธุรกิจฯ เตือนคนไทยรู้ทันโจร! แนะ 4 เทคนิคเช็ค ‘หนังสือรับรองนิติบุคคลของแท้!’ สกัดตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แจ้งเตือนประชาชน รู้ทันมิจฉาชีพ เผย! 4 เทคนิคเช็คหนังสือรับรองนิติบุคคลของแท้ด้วยตนเอง พร้อมส่อง “ข้อควรทราบ” ให้ดีก่อนทำธุรกรรม เพิ่มความเชื่อมั่นก่อนดีลธุรกิจ ป้องกันตกเป็นเหยื่อ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีมิจฉาชีพแอบอ้างใช้หนังสือรับรองนิติบุคคลหรือเอกสารปลอม หรือการแสดงข้อมูลเท็จเกี่ยวกับนิติบุคคลเพื่อหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อทำธุรกรรมทางการเงินหรือร่วมลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐและเอกชนอย่างมาก
โดยพฤติการณ์ที่พบ ส่วนใหญ่เป็นการหลอกให้ลงทุน การปลอมแปลงข้อมูลบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย การใช้ชื่อนิติบุคคลเพื่อกระทำความผิด โดยมีทั้ง นิติบุคคลที่จดทะเบียนจริงและไม่ได้จัดตั้งขึ้นจริง แต่ปลอมแปลงเอกสารนิติบุคคลเพื่อนำไปหลอกลวง สำหรับข้อมูลสำคัญที่ระบุในหนังสือรับรองนิติบุคคลประกอบไปด้วย ชื่อและเลขทะเบียนนิติบุคคล รายชื่อกรรมการและอำนาจลงนาม จำนวนทุนจดทะเบียน ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ วัตถุประสงค์ของบริษัท ข้อควรทราบ เช่น การเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท หรือการขาดส่งงบการเงิน และข้อควรทราบ (ในบางกรณี) เป็นต้น
“โอกาสนี้จึงขอเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ โดยสามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือรับรองนิติบุคคลทั้งรูปแบบเอกสารและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองได้จาก 4 วิธี ดังนี้ วิธีที่ 1) การสแกน QR Code ที่ปรากฏอยู่ด้านล่างขวาของหนังสือรับรอง เมื่อสแกนแล้วจะต้องปรากฏหน้าหนังสือรับรองที่มีข้อมูลตรงกันกับต้นฉบับทุกประการ วิธีที่ 2) สามารถนำเลข Ref No. ในหนังสือรับรองไปตรวจสอบด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th เลือกหัวข้อบริการออนไลน์>>บริการข้อมูลธุรกิจ>>ตรวจสอบหนังสือรับรอง/รับรองสำเนาเอกสาร โดยข้อมูลที่ปรากฏจะต้องตรงกับต้นฉบับทุกประการเช่นกัน วิธีที่ 3) กรณีหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์มีวิธีตรวจสอบเพิ่มเติมคือ สามารถคลิก Ref No. ที่อยู่ตรงด้านล่างของหนังสือรับรอง โดยระบบจะเชื่อมโยงอัตโนมัติไปยังหน้าตรวจสอบหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th และจะต้องปรากฏข้อมูลเช่นเดียวกับวิธีที่ 2 หรือเมื่อคลิกที่ลายเซ็นของนายทะเบียนจะปรากฏหน้าคุณลักษณะของไฟล์หนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (PDF File) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเวอร์ชันของโปรแกรมของประชาชนที่เปิดใช้งานไฟล์ดังกล่าวด้วย และ วิธีที่ 4) สังเกตข้อความตรง ‘ข้อควรทราบ’ ที่อยู่ด้านล่างของหนังสือรับรองนิติบุคคลเพิ่มเติมด้วย เช่น นิติบุคคลรายนั้นไม่มีที่ตั้งตามที่จดทะเบียนไว้ หรือนิติบุคคลขาดการส่งงบการเงินหรือไม่ซึ่งข้อความเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนพึงระมัดระวังและใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว
ทั้งนี้ หนังสือรับรองนิติบุคคลที่กรมฯ ออกให้ ‘ไม่มีกำหนดอายุการใช้งาน’ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงานปลายทางที่ประชาชนนำไปติดต่อ ซึ่งบางกรณีอาจกำหนดช่วงเวลาการออกหนังสือรับรอง อย่างไรก็ดี เมื่อนิติบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาทิ เปลี่ยนกรรมการ เปลี่ยนที่ตั้งสำนักงาน นิติบุคคลรายนั้นจะต้องมีหน้าที่มาแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อกรมฯ ภายในระยะเวลาตามกฎหมายที่กำหนด เพื่อให้ฐานข้อมูลนิติบุคคลอัปเดตเป็นปัจจุบันและให้บริการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ.
#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์