‘รมว.ยธ.’ ดึง ‘ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็น’ ร่วมเปิดงาน ‘2 ปี พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย’ มุ่งเน้นให้ความเป็นธรรม ปชช.

“ทวี สอดส่อง” ดึงข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ร่วมเปิดงาน “2 ปี พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย” พ่วงกิจกรรม “อุโมงค์แห่งความยุติธรรม” มุ่งเน้นให้ความเป็นธรรม ปชช. ย้ำ! รัฐไทยยังเดินติดตาม/ตรวจสอบกรณีบุคคลสูญหายในบัญชี UN พร้อมวาง 3 แนวทางในอนาคต “ป้องกัน-ปราบปราม-เยียวยา”

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมปาฐกถาพิเศษ “2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ : กุญแจสู่ความเป็นธรรม” เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2568 ณ ห้องประชุม 10-09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม มี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก Ms. ซินเทียร์ เวลิโก้ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายเกี่ยวกับ มุมมอง และความคาดหวังต่อ พ.ร.บ.ทรมานฯ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “อุโมงค์แห่งความยุติธรรม : Key of Juctice” โดยมี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ

รมว.ยุติธรรม กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การปราบปราม และการเยียวยา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง และภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว
ในฐานะ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เขาระบุว่า ในเรื่องของการป้องกันการกระทำความผิดถือเป็นส่วนที่ความสำคัญมากที่สุด โดยที่ผ่านมาได้เร่งสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ มีการปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกฎหมายที่กำหนดไว้มากยิ่งขึ้น การปราบปรามผู้กระทำความผิด ซึ่งตาม พ.ร.บ.ฯ ที่มีการกำหนดให้หลายหน่วยงานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และ ปัจจุบันมีคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล จำนวน 2 คดีแล้ว โดยทั้ง 2 คดีหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้บูรณาการกันทำคดีกันอย่างเข้มข้น

อีกทั้งยังไม่ลดละต่อการ ติดตามและตรวจสอบกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายในบัญชี UN ซึ่งสูญหายไปตั้งแต่ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 โดยที่ผ่านมาได้คลี่คลายคดีแล้วจำนวน 15 ราย รวมทั้งมีการติดตามตรวจสอบ กรณีการสูญหายของคนไทยในต่างประเทศจำนวน 9 รายด้วย และในส่วนของ การเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวนั้น ก็ได้มีการเร่งรัดติดตามร่างระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังเพื่อให้ความเห็นชอบอย่างเร่งด่วน หากระเบียบดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็จะถือได้ว่าเป็นระเบียบที่มีการเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
สำหรับแนวทางในอนาคต กระทรวงยุติธรรมก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ได้แก่…
1.การป้องกัน โดยให้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บฯ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสร้างการรับรู้กับภาคประชาชนและภาคประชาสังคม

2.การปราบปราม โดยเร่งรัดติดตามการสืบสวนสอบสวนให้มีความรวดเร็ว และโปร่งใสมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ
3.การเยียวยา ต้องมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรวดเร็วเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้
พ.ต.อ.ทวี ยังระบุอีกว่า เป้าประสงค์ของการมี พ.ร.บฯ ฉบับนี้ นอกจากจะบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมุ่งประสงค์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมาย และรักษาความยุติธรรมให้ประชาชนด้วย จากนี้ไปจะต้องไม่มีใครต้องถูกทรมานและอุ้มหาย และยังเชื่อว่า ก้าวต่อไปของ พ.ร.บฯ คณะกรรมการฯ และทุกภาคส่วนจะสามารถสานพลังให้มีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง และมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ เป็นเกราะป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ส่งเสริมหลักนิติธรรม และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฎิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบมากขึ้น.