‘พาณิชย์’ เตรียมชง กกร. ขึ้นบัญชีควบคุม ‘เครื่องฟอกอากาศ-เครื่องดูดฝุ่น’ เฉพาะใช้ในครัวเรือน
“กรมการค้าภายใน” รับลูก “รัฐมนตรีพิชัย” ระดมความเห็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และห้าง กำหนดแนวทางกำกับดูแลเครื่องปรับอากาศและเครื่องดูดฝุ่น เตรียมเสนอ กกร. พิจารณาขึ้นบัญชีเป็นสินค้าควบคุม โฟกัสเฉพาะที่ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม. คาดจบภายในเดือน ก.พ.นี้
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่าย (ห้าง) เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลสินค้าเครื่องฟอกอากาศและเครื่องดูดฝุ่น เป็นสินค้าควบคุม ตามนโยบายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ดูแลสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับดูแล และป้องกันประชาชนโดนเอาเปรียบ โดยผู้ประกอบการพร้อมที่จะร่วมมือ เพราะเห็นถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ กรมฯยังได้ติดตามสถานการณ์การผลิต การนำเข้า และการจำหน่าย พบว่า สินค้ามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ไม่มีปัญหาการขาดแคลนแต่อย่างใด และสินค้ามีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ
สำหรับ การนำสินค้าเครื่องฟอกอากาศและเครื่องดูดฝุ่นเป็นสินค้าควบคุม มีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ดูแลสินค้าทั้งสองชนิด “ไม่ให้ขาด ไม่ให้แพง” และจะคุมเฉพาะสินค้าที่ใช้ครัวเรือน เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากจนเกินไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำ ร่างประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม และมาตรการในการกำกับดูแลสินค้าเครื่องฟอกอากาศและสินค้าเครื่องดูดฝุ่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอเข้า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณา และเมื่อ กกร. พิจารณาแล้ว ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ หากตรวจสอบพบการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่าย จะมีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของประชาชน หากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ และหากพบการกระทำความผิด จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด.