กรมศุลฯมั่นใจ ‘จนท.ไม่เอี่ยวลักลอบขยะอีเล็กทรอนิกส์’ – เร่งปิดคดี หวัง ‘นำร่อง’ ใช้กับเคสท์อื่น – ชี้! หลังคดีจบจะปรับเงิน ไล่ขนออกนอกประเทศทันที!

“โฆษกกรมศุลฯ” นำแถลงจับกุม “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ลักลอบนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง รวม 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักกว่า 256 ตัน เผย! กรมศุลฯญี่ปุ่นแจ้งเบาะแส นำสู่การจับกุม ส่วนจะเกี่ยวโยงกับกลุ่มนำเข้าก่อนหน้านี้หรือไม่? รอสอบสวนก่อน คาดใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน

ชี้! หลังคดีสิ้นสุด จะทำการปรับและสั่งขนออกนอกประเทศทันที! พร้อมใช้เคสท์นี้เป็น “ตัวนำร่อง” จัดการกับกลุ่มอื่นๆ มั่นใจ จนท.ศุลกากรไม่เกี่ยวข้องขบวนการนี้ และกฎหมายที่มีเอาผิดได้แน่นอน พร้อมประสานงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรม พาณิชย์ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง

เมื่อช่วงสายวันที่ 15  มกราคม 2568 ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ “โฆษกกรมศุลกากร” พร้อมด้วย นายจักกฤช อุเทนสุต รองอธิบดีกรมศุลกากร นายวุฒิ เร่งประดุงทอง ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และ ผู้บริหารของกรมฯ ร่วมแถลงข่าวการจับกุม “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” นำเข้าทางท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักกว่า 256 ตัน” ว่า ตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” มักมีส่วนประกอบของสารแคดเมี่ยม สารปรอท และสารอันตรายอื่นๆ โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง จึงได้สั่งการให้กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งรัดปราบปรามสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในการนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักร

จากการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด พบว่า อาจมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ในวันที่ 3 และ 6 มกราคม 2568 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงทำการตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กระทั่ง พบการแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น “เศษโลหะและโลหะเก่าใช้แล้ว” เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด ผลการตรวจสอบพบว่าสินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น จำนวน 9 ตู้ และฮ่องกง จำนวน 1 ตู้ ภายในพบ “เศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ มีสภาพเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณกว่า 256,320 กิโลกรัม”

ซึ่งสินค้าดังกล่าว ถือเป็น ของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้วันที่ 15 กันยายน 2563 และ ถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน กรณีเป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  มาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 18 วรรคสอง มาตรา 23 และมาตรา 73  ประกอบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 บัญชีที่ 5.2 ของเสียเคมีวัตถุ ลำดับที่ 2.18 ชิ้น ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ และอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน

ในช่วงของการถามตอบ ผู้สื่อข่าวถามถึงความเชื่อมโยงของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ว่าเกี่ยวพันกับการดำเนินคดีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีน ที่ถูกจับและอายัดไปก่อนหน้านี้หรือไม่? “โฆษกกรมศุลกากร” ตอบว่า เรื่องนี้ ยังต้องรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอีก อย่างไรก็ตาม กรมฯได้เชิญให้ตัวแทนของบริษัทนำเข้า ซึ่งเป็นธุรกิจเทรดเดอร์ (ซื้อมาขายไป) มาชี้แจ้งแล้ว โดยหาดำเนินการจบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 30 วัน จากนั้นก็จะทำการปรับเงิน พร้อมกับให้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวออกนอกประเทศโดยเร็ว ทั้งนี้ กรมฯจะใช้กรณีดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องในการดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากเชื่อว่ามีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามมาอีก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กรมฯทำได้ขณะนี้ คือการเฝ้าวังอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, ฝ่ายปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ กรณีตู้สินค้าจากญี่ปุ่น กรมฯได้รับการประสานงานจากกรมศุลกากรของญี่ปุ่น จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจสอบจนพบขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่กรมฯได้แจ้งเบาะแสให้กับประเทศปลายทางที่มีการนำเข้าของผิดกฎหมายจากประเทศไทยเช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า “ฟรีโซน” คือแดนสนธยาที่กลุ่มผู้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปซุกซ่อน นั้น “โฆษกกรมศุลกากร” ย้ำว่า การจัดตั้งเขต “ฟรีโซน” จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สามารถจะเข้าตรวจสอบได้อยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นพื้นที่แดนสนธยาแต่อย่างใด ส่วนที่กังวลว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ขอย้ำว่า การป้องกันการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่กรมฯให้ความสำคัญอย่างมาก และรัฐบาลเองก็กำชับดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรคนใดเกี่ยวข้องกับการปล่อยผ่านขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากวิธีการลักลอบนำเข้าและการสำแดงเท็จมีกระบวนการที่ซับซ้อน การตรวจค้นในบางครั้งอาจทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ซุกซ่อนมา มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าที่ได้สำแดงเอาไว้

ยกเว้นในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็อาจมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรบ้าง ซึ่งทาง สำนักงาน ป.ป.ช.ก็จะเข้ามาตรวจสอบและดำเนินการเอาผิด หากพบว่ามีส่วนร่วมกับการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายเหล่านั้น

สำหรับ ประสิทธิภาพการตรวจจับขยะอิเล็กทรอนิกส์ นั้น ตนขอยืนยันว่า หากเป็นตู้สินค้าที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือได้รับเบาะแสว่าอาจมีการลักลอบนำเข้าโดยการสำแดงเท็จ แล้ว กรมฯได้ดำเนินการตรวจสอบทั้ง 100%

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลใจว่า ประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ นั้น ข้อเท็จจริงคือ ทุกประเทศมีโอกาสจะเป็นจุดหมายปลายทางทั้งสิ้น ในส่วนของไทย ตนเชื่อว่ากฎหมายที่มีอยู่เพียงพอจะดำเนินการป้องกันและเอาผิดกับขบวนการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายนั้น ตนยังเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้เกิดการจับกุม ขยายผล และจัดแถลงข่าวเช่นที่เป็นอยู่

สำหรับ สถิติการจับกุมของที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 14 มกราคม 2568) ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 19 คดี น้ำหนัก 256,643 กิโลกรัม เศษพลาสติก จำนวน 6 คดี น้ำหนัก 322,980 กิโลกรัม รวมทั้งหมด 25 คดี น้ำหนัก 579,623 กิโลกรัม สำหรับในปีงบประมาณ 2567 จับกุมขยะเทศบาล จำนวน 9 คดี น้ำหนัก 1,259,942 กิโลกรัม

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวอีกว่า นอกจาก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังสินค้าที่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนอื่น ๆ ด้วย เช่น เศษพลาสติก ซึ่งเป็นไปตาม ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password